5 ไฮไลต์นิทรรศการน่าสนใจใน Chiang Mai Design Week 2018

เขียนโดย
Wissuta Ploypetch
การโฆษณา

เริ่มต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับช่วงเวลาแห่งการพบปะพูดคุยพร้อมแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการออกแบบประจำปี Chiang Mai Design Week เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2018 ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 8-16 ธันวาคมนี้ เต็มไปด้วยกิจกรรมหลากหลายหัวข้อและรูปแบบที่กระตุ้นแรงบันดาลใจ ต่อยอดความคิดถ่ายทอดประโยชน์ของงานออกแบบในการดำรงชีวิตสมัยใหม่ และขับเคลื่อนการเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน (UNESCO Creative City on Crafts and Folk Art) ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง 

งานนี้เราก็ได้เลือกไฮไลต์ 5 นิทรรศการน่าสนใจ (จากกว่า 200 นิทรรศการและกิจกรรม) ภายในงานนี้มาเรียกน้ำย่อยก่อน ใครอยู่เชียงใหม่หรือกำลังจะไปภายในวันที่ 16 นี้อย่าพลาดงานนี้เป็นอันขาด!

 

กวัดแกว่ง

ศิลปิน : Coth Studio

กวัดแกว่ง Oscillate

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

ผลงานแสงสีผสมผสานที่เคยจัดแสดงในงาน Awakening Bangkok: A Festival of Lights เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยให้แสงที่เคลื่อนไหวส่องสิ่งของเครื่องใช้ที่มีความหลากหลายของชุมชนวัดล่ามช้าง และชุมชนควรค่าม้า เพื่อแสดงถึงนัยยะแฝงของสิ่งของเครื่องใช้และผู้คนในชุมชน กลายเป็นความหลากหลายที่ถูกผสมผสานความแตกต่างจนเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน 

Textile Story

ศิลปิน : วิทยา จันมา

Textile Story

Chiang Mai Design Week

ภาพเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากลายผ้า โดยศิลปินใช้ลายดั้งเดิมของผ้าทอไทยที่มีลวดลายเหมือนและสมมาตรกันในแถวเดียวกัน แต่แต่ละแถวกลับมีขนาดต่างกัน นำมาเย็บเป็นผืนเดียวกัน โดยให้ลวดลายผสมกัน เมื่อ “ฉาย” ผ้าเหล่านี้เหมือนฉายภาพยนตร์ ผู้ชมจะได้เห็นควบคุมภาพเคลื่อนไหวนี้ด้วยการกระพริบแสง และความถี่ของการกระพริบนี้จะส่งผลต่อการมองเห็นของสายตา (คล้ายเทคนิคที่ใช้ในอนิเมชั่น)

SAK-SIT Talisman

ศิลปิน : De lann Jewellery x Surreal Stitch

SAK-SIT Talisman

Chiang Mai Design Week

การทำงานร่วมกันครั้งแรกระหว่างกลุ่มช่างฝีมือจากแบรนด์เชียงใหม่อย่าง เดอ ลานน์ (ชื่อมาจากคำว่า “De” ที่แปลว่า “จาก”ในภาษาฝรั่งเศส และ “ล้านนา”) ที่ถนัดด้านการเย็บปักถักร้อยและประกอบเครื่องประดับ และ วทันยา ศิริวรรณ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Surreal Stitch โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการสักยันต์และเครื่องรางของขลัง ซึ่งเธอสังเกตว่าอยู่ในชีวิตประจำวันของคนกลุ่มก้อนใหญ่ในสังคมไทย และเป็นสิ่งซึ่งฝังรากลึกอยู่ในระบบความเชื่อของประเทศ

Every Day

ศิลปิน : ปพิชชา ธนสมบูรณ์

Every Day

Chiang Mai Design Week

ท้องฟ้า 30 วัน ถูกถ่ายทอดลงในชาม 30ใบ ที่เคลือบดินเผาด้วยเทคนิคเนริโกมิ เป็นการนำดินสีแต่ละชั้นมาทับซ้อนให้เกิดลวดลาย ซึ่งจะเห็นได้ทั้งด้านในและด้านนอกภาชนะ โดยมีความท้าทายอยู่ที่การเลือกใช้ดินสโตนแวร์ (สีเทา) เพราะเมื่อผสมสีลงไปในดินแล้ว จะยังไม่เห็นสีทันทีจนกว่าจะนำไปเผา แล้วขัดด้วยกระดาษทรายน้ำ

Zen Stone

ศิลปิน : ปพิชชา ธนสมบูรณ์

Zen Stone

Chiang Mai Design Week

นักออกแบบได้นำแนวคิดและปรัชญาตามวิถีแห่งเซน มาใช้ในการออกแบบชุดโซฟาทองเหลืองชุดนี้ ที่จงใจให้ดูเรียบง่าย แต่ยังคงแฝงไว้ซึ่งความหรูหราของวัสดุ โดยผลงานชิ้นนี้ได้ร่วมผลิตกับช่างฝีมือจากโรงงานหล่อทองเหลืองด้วยกรรมวิธีแบบดั้งเดิม ประกอบด้วยรูปทรงของก้อนหินขนาดใหญ่ 2 ก้อน นำมาวางต่อชนกันในลักษณะที่แบนราบ เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่นิ่งสงบ ผ่อนคลาย

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา