6 ผลงานสถาปัตกรรมชิ้นเอกที่ I. M. Pei ฝากไว้บนโลก

เขียนโดย
Wissuta Ploypetch
การโฆษณา

ข่าวเศร้าของวงการสถาปนิกในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการจากไปตลอดกาลของสถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีน I.M. Pei (ไอ. เอ็ม. เพ่ย์) ด้วยวัย 102 ปี ผู้ฝากผลงานการออกแบบไว้ให้โลกมากมาย รวมถึง พีระมิดแก้วที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส แลนด์มาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากใฝ่ฝัน

ไอ. เอ็ม. เพ่ย์ มีชื่อเดิมว่า เป้ยอี้หมิง เกิดที่มณฑลกวางโจว ประเทศจีน ในปี 1917 ก่อนที่เขาจะย้ายไปศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรม ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และวิศวกรรมที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และเริ่มประกอบอาชีพสถาปนิกและเปิดบริษัทของตนเองในปี 1955 

ด้วยความที่ ไอ.เอ็ม. เพ่ย์ มีความชื่นชอบในสถาปัตยกรรมอิสลามเป็นการส่วนตัว เขาจึงมักจะใช้รูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ หิน คอนกรีต แก้ว และเหล็ก ในการออกแบบ รวมทั้งให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตั้ง ผลงานของเขาจึงมักจะเปี่ยมไปด้วยความเรียบร้อย สะอาดตา มากกว่าที่จะเป็นสถาปัตยกรรมสุดฉูดฉาดแหวกๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ ความเอาใจใส่ในการออกแบบเช่นนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลมากมายเป็นการยืนยันความสำเร็จ อาทิ รางวัลเหรียญทองเอไอเอในปี 1979 รางวัลพริตซ์เกอร์ในปี 1983 และรางวัลพรีเมียมอิมพีเรียลสาขาสถาปัตยกรรมในปี 1989 เป็นต้น

นอกจากพีระมิดแก้วทางเข้าหลักพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ไอ. เอ็ม. เพ่ย์ ยังมีผลงานระดับมาสเตอร์พีซอีกมากมาย ซึ่งเราจะพาไปดูพร้อมรำลึกถึงผลงานของเขาไปพร้อมๆ กัน

The Louvre Pyramid  (กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส)

The Louvre Pyramid

ไม่ต้องบอกก็น่ารู้กันดีว่า ปิรามิดผนังแก้วซึ่งเป็นทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์หลังนี้ เป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของไอเอ็ม. เพ่ย์ แต่หลายคนคงไม่รู้ว่าปิรามิดดังกล่าวไม่ได้เป็นที่ยอมรับตั้งแต่แรก เนื่องจากหลายคนมองว่ามันไม่เข้ากับทัศนียภาพโดยรอบ เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนเมื่อปิรามิดสร้างเสร็จแล้ว ความสวยงามของมันก็สามารถเอาชนะเสียงคัดค้านทั้งหมดนั้นลงได้

Bank of China Tower  (ฮ่องกง)

Bank of China Tower

อาคารกระจกสูงเสียดฟ้ารูปทรงปังตอ หนึ่งในอาคารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในฮ่องกง ทั้งยังเป็นอาคารที่สูงที่สุดอันดับสี่ของฮ่องกง มีความโดดเด่ยด้วยการออกแบบทางโครงสร้างคล้ายกับการเติบโตของต้นไผ่ที่กำลังแตกหน่อขึ้นไป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความเจริญรุ่งเรืองสำหรับชาวจีน แต่อาคารหลังนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านฮวงจุ้ยหลายคน ถึงความไม่เป็นมงคลจากบรรดาขอบคมและรอยต่อของกระจกรูปตัว x จำนวนมากรอบตัวตึก 

East Building of the National Gallery of Art  (วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา)

East Building of the National Gallery of Art

อาคารหินอ่อนเทนเนสซีซึ่งสร้างต่อเติมจากอาคารฝั่งตะวันตกเดิมของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นรัสเซลล์ ซึ่งไอเอ็มเพ่ย์ได้ออกแบบอาคารฝั่งนี้ให้มีทรงที่เหลี่ยมมากขึ้น คล้ายกับรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู รวมทั้งประติมากรรมปิรามิดกระจกด้านหน้าที่เปรียบเสมือนเอกลักษณ์ในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ของเขาโดยที่ Ada Louise Huxtable นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมอาวุโสของ The New York Times ในเวลานั้นยกย่องให้ที่นี่เป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดของยุค

Museum of Islamic Art  (โดฮา ประเทศกาตาร์)

Museum of Islamic Art

พิพิธภัณฑ์เก็บคอลเล็คชั่นผลงานศิลปะจำนวนมหาศาลขนาด 45,000 ตารางเมตร บนเกาะที่สร้างขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ โดยมีรูปร่างแบบรูปทรงเรขาคณิตซึ่งมีความสมมาตรตามสไตล์สถาปัตยกรรมแบบอิสลาม มีโดมด้านบนตรงกลางทำหน้าที่เป็นห้องโถงใหญ่เชื่อมต่อกับแกลเลอรี ห้องสมุด แหล่งการเรียนรู้ และภัตตาคาร ผสมผสานกับการออกแบบสไตล์โมเดิร์น แสดงถึงความยืดหยุ่นระหว่างสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ กับสิ่งปลูกสร้างที่มีความทันสมัย 

Rock and Roll Hall of Fame and Museum  (โอไฮโอ สหรัฐอเมริกา)

Rock and Roll Hall of Fame and Museum

พิพิธภัณฑ์สำหรับดนตรี วงการเพลง ประวัติศาสตร์วงการแผ่นเสียงที่มีบันทึกเรื่องราวของศิลปินที่เป็นที่รู้จักที่สุด โปรดิวเซอร์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดนตรี โดยมากมักแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับร็อกแอนด์โรล ตั้งอยู่บนชายหาดของทะเลสาบอีรี ในตัวเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโครสร้างแบบลาดเอียงอันเป็นลายเซ็นประจำตัวของไอ. เอ็ม. เพ่ย์

National Center for Atmospheric Research  (โคโลราโด สหรัฐอเมริกา) 

National Center for Atmospheric Research

ผลงานการออกแบบชิ้นแรกหลังจากที่ไอ. เอ็ม. เพ่ย์เปิดบริษัทเป็นของตัวเองในชื่อ IM Pei & Associates โดยอาคารคอนกรีตสีทองแดงหลังนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงที่มองเห็นทิวทัศน์ของเมือง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากหน้าผาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอินเดียแดงในโคโลราโดตะวันตกเฉียงใต้

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา