BACC
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

สิ่งที่เกิดและโปรเจ็กต์ระดมทุนก่อน 'หอศิลป์กรุงเทพฯ' จะสิ้นสุดสัญญาลงเดือนสิงหาคมนี้

เมื่อพื้นที่สร้างสรรค์ของคนทุกรุ่นอาจต้องเปลี่ยนไป...

เขียนโดย
Time Out Bangkok editors
การโฆษณา

เชื่อว่าคนที่คลุกคลีกับวงการศิลปะอยู่ตลอด คงเห็นข่าวเกี่ยวกับ หอศิลปกรุงเทพฯ ที่กำลังจะหมดสัญญากับทาง กทม. แล้ว ซึ่งเราเองก็อดใจหายไม่ได้เหมือนกัน เพราะเชื่อว่าหลายคนรวมถึงตัวเองด้วย ก็ได้รับพลังบวกดีๆ จากหอศิลป์ฯ แห่งนี้ไปไม่น้อย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่ (อาจ) จะเกิดนี้ ทำให้ไม่มีใครต้องการเห็นหอศิลป์กรุงเทพฯ ถูกปิดลงหรือเปลี่ยนไปอยู่ในมือของคนที่ไม่เข้าใจคำว่า ‘ศิลปะ’

มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ทำสัญญาบริหารจัดการหอศิลปกรุงเทพมหานครไว้กับทาง กทม. เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งสัญญาที่ว่ากำลังจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ทีมผู้บริหารมูลนิธิจึงทำเรื่องขอต่อสัญญากับทาง กทม. ออกไปอีก 10 ปีแล้ว ทว่ายังคงรอคำตอบที่ชัดเจนจากการประชุมอยู่ว่าจะเดินต่อร่วมกันในทิศทางไหน เพราะอีกประเด็นสำคัญคือ เงินสนับสนุนที่ กทม. ไม่มอบให้หอศิลป์ฯ มานาน 4 ปีแล้ว และช่วยเหลือเพียงค่าน้ำค่าไฟเท่านั้น

เนื่องจากหอศิลป์ฯ เป็นพื้นที่เปิดให้ทุกคนเข้าชม ฟรี ทำให้การดำรงอยู่ได้ต้องมีรายได้มาจากส่วนอื่นๆ แทน ซึ่งเราเชื่อว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลพื้นที่กว่า 25,000 ตร.ม. ต้องไม่ใช้น้อยอย่างแน่นอน

BACC
BACC

เดิมทีทาง กทม. เป็นเจ้าของพื้นที่และอาคารของหอศิลปกรุงเทพฯ ทั้งหมด ก่อนมีการจัดตั้ง มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ขึ้นมาเพื่อเป็นทีมบริหารจัดการแทน โดยคณะกรรมการชุดปัจจุบันมี รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน มาตั้งแต่ปี 2562

จะเกิดอะไรขึ้นหาก กทม. ไม่ขอต่อสัญญา?

ที่ผ่านมา กทม. ทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือด้านงบประมาณให้หอศิลปกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2551 หาก กทม. ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาร่วมกับมูลนิธิฯ จะเท่ากับว่าอาจมีการเปลี่ยนทีมดูแลหอศิลป์ฯ ซึ่งจะเป็นเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แทน และสิ่งที่ทุกคนกังวลคือ ความไม่แน่นอนว่าผู้ที่เข้ามาดูแลใหม่จะทำการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แห่งนี้ให้มีประโยชน์มากขึ้นหรือลดลง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับวงการศิลปะ เพราะหอศิลป์ฯ เป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะขนาดใหญ่กลางเมืองและเป็นสถานที่สำคัญของวงการศิลปะ ที่ทำให้ศิลปินได้มีพื้นที่แสดงออกความสร้างสรรค์ของตัวเองได้อย่างเสรี 

แม้ว่าโอกาสในการต่อสัญญาครั้งนี้จะมองให้ขาดอย่างแน่นอนไม่ได้ เพราะเราเองก็ไม่แน่ใจจะออกมาในรูปแบบไหน แต่ด้วยสัญญาณหลายๆ อย่าง รวมถึงหากพิจารณาตามผลงานของมูลนิธิหอศิลปฯ เราเชื่อว่า กทม. จะต้องตัดสินใจเพื่อประชาชนและวงการศิลปะต่อไป หากพวกเขาเห็นว่า ‘ศิลปะ’ ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ

เนื่องจากตั้งแต่มีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม. และระบบการบริหารจัดการของรัฐบาล งบที่มูลนิธิฯ เคยได้รับมาตั้งแต่ปี 2554 ก็หายไป ทั้งที่มีการทำข้อตกลงกับภาคประชาชนและศิลปินแล้วว่าจะสนับสนุน ทว่าตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมากลับช่วยเหลือเพียงค่าน้ำค่าไฟเท่านั้น

ซึ่งอาจเพราะจุดนี้เอง ส่งผลให้จำนวนและความสม่ำเสมอในการนำผลงานมาจัดแสดงของหอศิลป์ฯ ต้องลดลงตามต้นทุน

BACC
BACC
BACC
BACC

แล้วเราจะช่วยหอศิลป์ฯ ได้อย่างไรบ้าง?

เชื่อว่าหลายคนอยากให้หอศิลป์ฯ อยู่ในการดูแลของคนที่เข้าใจศิลปะอย่างแท้จริงต่อไป รวมถึงได้รับการสนับสนุนอย่างที่ถูกที่ควร เพราะสถานที่แห่งนี้ไม่เป็นเพียงแค่สถานที่แสดงศิลปะ แต่ยังเสมือนพื้นที่พักผ่อน เติมแรงบันดาลใจ ปลุกความสร้างสรรค์ให้ทุกคนได้อีกด้วย

ตอนนี้มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ เริ่มทำการระดมทุนเพื่อนำมาบริหารสถานที่ก่อนจะถึงวันสิ้นสุดสัญญา ไม่ว่าจะด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่ให้คุณค่าศิลปะเช่นเดียวกัน หรือจัดนิทรรศการและกิจกรรมด้วยตัวเอง เพื่อนำรายได้เพียงเล็กน้อยจากทุกคนมาดูแลพื้นที่ต่อ

โดยกิจกรรมที่มีในตอนนี้คือ ‘Art in Postcards’ เป็นการทำโปสการ์ดชุดพิเศษร่วมกับศิลปิน 12 คน ได้แก่ พลอย จริยะเวช, มาโนช กิตติชีวัน, ยุรี เกนสาคู, นักรบ มูลมานัส, โลเล, Nut Dao, give.me.museums, Juli Baker and Summer, Rukkit, คัจฉกุล, ฟาน.ปีติ และ Inflowerlesson

สำหรับคนที่อยากสนับสนุนการระดมทุนครั้งนี้ เพียงแค่ซื้อโปสการ์ดในราคา 50 บาท/ใบ แล้วรับได้ที่ ร้าน BACC Shop ชั้น 5 และ บริเวณเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ชั้น 5 หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ทาง Bacc shop โปสการ์ดสามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศ จำหน่ายตั้งแต่วันนี้ - เดือนสิงหาคม เท่านั้น

by: Kenika Ruaytanapanich, Julada Khamshompoo

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา