Battle of the musicals: แม่นาค ปะทะ พ่อระนาด พฤษภาคม-มิถุนายนนี้

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

ช่วงนี้คอมิวสิคัลต้องยิ้มแก้มปริ เพราะมิวสิคัลชื่อดังที่เคยสร้างความประทับใจพร้อมกันกลับมาลงโรงอีกครั้ง ได้แก่ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ของรัชดาลัย และ โหมโรง เดอะมิวสิคัล ของค่ายโต๊ะกลมและเวิร์คพอยต์ ซึ่งไม่ใช่แค่มาจัดแสดงใหม่เท่านั้น แต่ยังมีการปรับเปลี่ยนตัวแสดง ปรับฉาก และปรับบทเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยอีกด้วย

แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ยังเป็นผลงานการกำกับของคุณบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ซึ่งพาเอานัท มีเรีย กลับมารับบทแม่นาคที่เธอเคยสร้างความประทับใจไว้ตั้งแต่การจัดแสดงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 ในขณะที่พ่อมากคือการรับบทครั้งแรกของนักร้องหนุ่มเสียงดีคุณพ่อหมาดๆ ตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ ในขณะที่นักแสดงสมทบก็เปลี่ยนใหม่เกือบหมดเช่นกัน โดยได้ขนมจีน-กุลมาศ ลิมปวุฒิวรานนท์ (ที่เพิ่งจะโด่งดังจากการเอาเพลง "ฉันจะรอเธอ" เพลงหลักของเรื่องไปร้องบนเวที The Mask Singer มาหมาดๆ) รับบทสร้อย เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ และ ไก่-อัญชุลีอร บัวแก้ว คุณแม่เสียงทรงพลังจากเวที The Voice มารับบทอาจารย์คงหมอผีและยายปริกหมอตำแย และคู่ซี้ 4 โพดำ โดม-ตั้ม The Star มาร่วมสร้างเสียงฮา เรียกว่าขนตัวเป้งจากเวทีมาจัดเต็มแข่งกับโปรดักชั่นใหญ่แบบไม่ให้เสียชื่อรัชดาลัยกันเลยทีเดียว 

 

แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล

 

ในขณะที่อีกฟากเมือง โหมโรง เดอะมิวสิคัล ยังคงแคสต์หนักด้วยนักแสดงเดิมเสียเป็นส่วนใหญ่ นำโดยอาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ และพ่ออี๊ด-สุประวัติ ปัทมสูต ในบทศร มือระนาดเอกแก่งกรุงรัตนโกสินทร์ แนน-สาธิดา พรหมพิริยะ ในบทแม่โชติคนรักยามสาว และโย่ง อาร์มแชร์ (อนุสรณ์ มณีเทศ) ยังคงกลับมารับบทพันโทวีระผู้ยึดมั่นในหลักการเช่นเดิม ในขณะที่เพิ่มเติมคือได้แม่เม้า-สุดา ชื่นบาน มาสวมบทแม่โชติวัยสูง และยังได้ขุนอินคนใหม่คือ เบิ่ง-ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ มือระนาดเอกจากกรมศิลปากรเลยทีเดียว

ดังนั้นถ้าเปรียบมิวสิคัลเป็นอาหาร ช่วงนี้เราคงได้กินกันอิ่มแปล้ เพราะอาหารอร่อยจานเก่าที่เรายังจำได้ดีดูถูกปรุงใหม่ด้วยวัตถุดิบใหม่ มาพร้อมเสิร์ฟให้คอมิวสิคัลได้ลิ้มรสกันอีกครั้ง เราได้ลองชิมแล้วทั้งสองมิวสิคัลเลยอดจะเปรียบไม่ได้ว่า ในขณะที่ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ดูจะปรับใหม่ปรุงใหม่ให้เข้ากับความชอบและความนิยมของปัจจุบันได้อย่างดีจนแทบจะไม่มีที่ติ โหมโรง เดอะมิวสิคัล ยังจะดูวนอยู่กับสิ่งที่เคยทำ แทบจะไม่รู้สึกถึงการปรับไม่เปลี่ยน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่ของดีถ้าต้องบริโภคนานเกินไปก็จะเบื่อได้เช่นกันนะ

 

โหมโรง เดอะมิวสิคัล

 

สำหรับแม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล นัท มีเรียยังคงเข้าถึงบทบาทการเป็นแม่นาคได้อย่างดีเช่นเคย โดยเฉพาะการที่คุณบอย ถกลเกียรติตัดสินใจปรับบทให้เข้ากับยุคสมัยยิ่งอธิบายการกระทำต่างๆ ของแม่นาคได้ดียิ่งขึ้น ให้เราซึมซับความงามของความรักแทนที่จะเป็นความหวาดกลัวเรื่องผี ในขณะที่ตู่-ภพธร เรียกว่าสอบผ่านทั้งด้วยน้ำเสียง การร้อง การแสดง และด้วยอายุที่ไม่ห่างจากนัท มีเรีย มากเลยทำให้เราเชื่อในความรักมากกว่าคู่ นัท-อาร์ (ไม่นับการถอดเสื้อโชว์หุ่นที่ทำให้สาวกรี๊ดคอแตกกันทั้งโรงละครอ่ะนะ) ส่วนพี่ไก่ เก่ง โดม และตั้ม ก็ทำให้เราระลึกถึงความสำคัญของเวทีประกวดร้องเพลงขึ้นมาได้ซะอย่างนั้น เพราะจะหาคนแสดงได้ร้องดี มันก็ต้องจากพวกเวทีแบบนี้นี่แหละ

สารภาพว่านอกจากฉากแม่นาคเหาะเหินเดินอากาศ เราแทบจะจำแม่นาคภาคเก่าไม่ได้เลย แต่ถามว่าจำเป็นไหม.. ก็ไม่ เพราะโปรดักชั่นครั้งนี้คุณบอยจัดเต็มเอาแบบให้ลืมครั้งก่อน แน่นอนว่าแม่นาคยังคงเหาะได้ แต่เพิ่มเติมต้วยบ้านไม้สองชั้นขนาดยักษ์ยกขึ้นลงกันสนุกทั้งเรื่อง วัดเอย หมู่บ้านเอย ฉากหนีผีแม่นาคเอย นี่ยังไม่รวมเพลงทั้งเก่าและใหม่ที่ติดหูจนทำให้เราอดฮัมเพลงออกจากโรงไม่ได้เลยทีเดียว

แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ครั้งนี้เลยเหมือนเป็นสำรับไทยสำรับใหญ่ ที่แต่ละองค์ประกอบสอดประสานกันเป็นอย่างดี เปรี้ยว เค็ม หวานพอเหมาะ จานนี้เข้าจานนี้ออกในจังหวะที่ลงตัว จานใหม่ก็ผสมกับจานเก่าไม่เคาะเขิน สร้างความอิ่มเอมในรูปรสกลิ่นเสียงแบบที่สำรับอร่อยควรจะต้องสร้างความประทับใจ... และแน่นอนว่าเราประทับใจจนอยากบอกต่อ

 

แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล

 

ในขณะเดียวกัน เราก็สารภาพอีกเหมือนกันว่าแทบจะจำไม่ได้ว่า โหมโรง เดอะมิวสิคัล เมื่อปี พ.ศ. 2558 เป็นอย่างไร จำได้แต่ว่า อาร์ม-กรกันต์ ร้องเพลงดี (ซึ่งอันนี้ไม่แปลกใจเพราะดูมาตั้งแต่สมัยยังแสดงละครนิเทศฯ) และเล่นระนาดเก่งมากจานคนตะลึงกันทั้งโรงรอบปฐมทัศน์ และเขาก็ยังคง deliver ทั้งสองสิ่งได้อย่างคงเส้นคงวาสำหรับการแสดงในปีนี้ รวมไปถึงการแสดงของพ่ออี๊ด พี่โย่ง แนน และแม่เม้า ก็เข้าถึงบทบาทนั้นได้อย่างไม่มีข้อสงสัย แต่การร้องและการแสดงของนักแสดงกลับถูกบั่นทอนด้วยฉากที่ไม่ได้ช่วยสร้างบรรยากาศ การเปลี่ยนฉากและองก์ที่ไม่ต่อเนื่อง และความเยิ่นเย้อของบทและการแสดงโดยรวมที่เกินพอดีแบบนี่เราต้องเหลือบมองนาฬิกาอยู่บ่อยครั้ง ถ้าจะพูดกันตรงๆ เรารู้สึกว่านี่คือโปรดักชั่นละครมหาวิทยาลัยที่ใช่นักแสดงมืออาชีพเสียด้วยซ้ำ

โหมโรง เดอะมิวสิคัล เลยเหมือนอาหารคอร์สใหญ่ที่กินเวลายาวนานหลายชั่วโมง แต่ละจานนั้นถูกปรุงแต่งอย่างสวยงามและให้รสอร่อย แต่บางครั้งอาหารแต่ละจานก็อาจจะไม่ได้เข้ากันทั้งหมด บางจานไม่มีก็ได้ บางจานก็รสจัดกว่าจานอื่น บางจานก็จืดกว่า ความต่อเนื่องของอาหารคอร์สนี้เลยอาจจะไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น และพอใกล้ถึงจานหลังๆ เราก็เริ่มจะเบื่อ คิดแต่ว่าเมื่อไหร่จะถึงจานสุดท้ายสักทีจะได้จบ... ซึ่งน่าเสียดาย เพราะถ้าแยกอาหารเหล่านั้นออกเป็นจานๆ แต่ละจานคืออร่อยชั้นเลิศเลยทีเดียวล่ะ 

ไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกอย่างที่เรารู้สึก เพราะนี่เป็นเพียงข้อสังเกตเล็กๆ ของผู้ที่เพลิดเพลินกับการชมมิวสิคัลเช่นคนปกติ ถ้ามีโอกาสและความสามารถเราก็ยังอยากให้ทุกคนไปชมการแสดงทั้งสองเรื่องอยู่ดี เพราะมิวสิคัลเป็นหนึ่งในศาสตร์การแสดงที่ใช้แรงเงินและแรงกายในการผลิต ไม่ได้หาชมได้บ่อยๆ และเสน่ห์ของมิวสิคัลไม่ได้อ่านได้จากตัวหนังสือ แต่ซึบซับและดื่มด่ำตามจริตของแต่ละคนได้แค่ในโรงเท่านั้น 

 

โหมโรง เดอะมิวสิคัล

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา