สสภช. ร่วมมือกับเน็ตฟลิกซ์ เปิดกองทุนช่วยเหลือคนในวงการโทรทัศน์และภาพยนตร์ ด้วยทุนกว่า 16 ล้านบาท

Kenika Ruaytanapanich
เขียนโดย
Kenika Ruaytanapanich
การโฆษณา

กองทุนเยียวยาจากผลกระทบโควิดนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อ คนที่ทำงานในกองถ่ายและสายการผลิตรายการโทรทัศน์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ (สสภช.) กับแพลทฟอร์มสตรีมมิ่ง เน็ตฟลิกซ์ ที่ร่วมสมทบเงินทุนกว่า 16 ล้านบาท เพราะต้องการช่วยเหลือคนจากสายการผลิตที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการถ่ายทำต้องหยุดชะงักจนขาดรายได้ไปหลายเดือน

โดยผู้ที่สามารถลงทะเบียนได้ กองทุนระบุว่าต้องเป็น ลูกจ้างอิสระ (Freelance) และผู้ที่ทำงานเป็นรายโปรเจกต์ เช่น ผู้ช่วยประจำกองถ่าย ผู้ช่วยนักตัดต่อ ผู้ควบคุมไมค์บูม และตำแหน่งอื่นๆ ในกองถ่ายทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในประเทศไทย สามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือได้ผ่านทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ผู้ลงทะเบียนต้องสามารถชี้แจงให้เห็นได้ว่า งานที่ตนทำอยู่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกหรือเลื่อนการผลิตออกไปนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา (ช่วงเวลาเดียวกับการประกาศ พรก. สถานการณ์ฉุกเฉิน) และต้องไม่เป็นลูกจ้างอิสระที่ทำงานให้กับสายการผลิตของเน็ตฟลิกซ์อยู่ ณ เวลานี้
หรือได้รับเงินเยียวยาจากเน็ตฟลิกซ์ก่อนหน้านี้ และต้องเป็นผู้ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นพํานักถาวรในประเทศไทยเท่านั้น

ลูกจ้างอิสระ (Freelance) ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาจากกองทุน จะได้รับเงินจำนวน 15,000 บาท/คน โดยผู้ที่เข้าข่าย มีดังต่อไปนี้

  • ฝ่ายแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟค ตัวอย่างเช่น 2D/3D แอนิเมเตอร์ นักวาดสตอรี่บอร์ด นักวาดคอนเซ็ปต์อาร์ต ช่าง 2D/3D VFX นักตัดต่อ VFX ผู้ประสานงานฝ่าย VFX ผู้ช่วยช่างเทคนิคฝ่าย VFX และอื่นๆ
  • ฝ่ายศิลป์ ตัวอย่างเช่น ผู้จัดซื้ออุปกรณ์ประกอบฉาก ผู้จัดการอุปกรณ์ประกอบฉากหน้ากอง ทีมงานฝ่ายจัดสร้างฉาก ทีมงานช่างก่อสร้าง ผู้ช่วยฝ่ายศิลป์ และอื่นๆ
  • ฝ่ายเครื่องแต่งกาย/แต่งหน้า ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยฝ่ายเครื่องแต่งกาย ผู้ช่วยฝ่ายแต่งหน้า ผู้ช่วยฝ่ายทำผม และอื่นๆ
  • ฝ่ายบริหารจัดการกองถ่าย ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยประจำกองถ่าย ผู้ช่วยผู้กำกับที่สองและที่สาม ผู้ช่วยฝ่ายบัญชี แคชเชียร์ประจำกองถ่าย ผู้ช่วยฝ่ายสถานที่ และผู้ช่วยฝ่ายจัดหานักแสดง คนขับรถประจำกองถ่าย ผู้ช่วยด้านสวัสดิการ และอื่นๆ
  •  ฝ่ายโพสต์โปรดักชั่น ตัวอย่างเช่น ผู้ประสานงานฝ่ายโพสต์ ผู้ช่วยนักตัดต่อ ผู้ช่วยฝ่ายเสียง ผู้ช่วยนักปรับแต่งสี ผู้แปลสคริปต์ และอื่นๆ
  • ฝ่ายงานเทคนิค ตัวอย่างเช่น ผู้เก็บบันทึกไฟล์งาน ผู้ควบคุมไมค์บูม ช่างไฟ ผู้ช่วยผู้กำกับภาพที่สองและที่สาม ผู้ช่วยช่างถ่ายภาพนิ่งประจำกองถ่าย ทีมงานช่างไฟและผู้ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิค และอื่นๆ

วิธีลงทะเบียน:

  1. ผู้ลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์มใบลงทะเบียนและมีหนังสือรับรองการทํางานจากผู้ว่าจ้างงานเพื่อใช้เป็น เอกสารยืนยันว่างานที่ตนทําอยู่ได้รับผลกระทบ
  2. แบบฟอร์มใบลงทะเบียนและหนังสือรับรองการทํางานสามารถดาวน์โหลดได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม เป็นต้นไป ที่เว็บไซต์ www.mpc.or.th
  3. ส่ง (1) ไฟล์แบบฟอร์มการลงทะเบียนที่กรอกรายละเอียดสมบูรณ์ครบถ้วนพร้อม (2) หนังสือรับรองการทํางาน (3) สําเนาบัตรประชาชนหรือสําเนาหนังสือเดินทาง และ (4) สําเนาหน้าสมุดธนาคาร นําส่งไฟล์เอกสารทั้งหมดผ่านช่องทางออนไลน์ที่ลิ้งค์ Google Form (ซึ่งประกาศบนหน้าแรกของเว็บไซต์ของ สสภช. www.mpc.or.th) ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563

โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์จะได้รับการติดต่อจากสมาพันธ์ภาพยนตร์ผ่านทาง SMS และอีเมล ภายในสองสัปดาห์หลังการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

สมาพันธ์ภาพยนตร์
เบอร์โทร: 02-6439100
อีเมล์: info@mpc.or.th

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา