'The Imitation Game' หนังดัดแปลงจากชีวิตจริงของ อลัน ทัวริง นักคิดและวีรบุรุษสงคราม

Kenika Ruaytanapanich
เขียนโดย
Kenika Ruaytanapanich
การโฆษณา

อีกภาพยนตร์ที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง แม้หนังจะไม่ได้ชูประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจน แต่เราเห็นว่าประเด็นที่ว่ากลับเป็นจุดสำคัญที่ทำให้วีรบุรุษผู้หยุดสงครามคนหนึ่ง ไม่ได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างที่ควรจะเป็น

The Imitation Game (2014) เป็นภาพยนตร์ที่อิงมาจากชีวิตของ อลัน ทัวริง นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษที่ทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อ เพราะเขาเป็นอัจฉริยะผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นรากฐานให้เกิดคอมพิวเตอร์และระบบ AI ขึ้นในปัจจุบัน โดยทัวริงมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1912-1954 ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นหลังเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ได้ไม่นาน และได้เข้าไปทำงานให้กับหน่วยงานรัฐบาลอังกฤษที่มีภารกิจลับระดับชาติ โดยผู้รับบทเป็น อลัน ทัวริง ในภาพยนตร์คือ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) นักแสดงชาวอังกฤษขวัญใจหลายๆ คน ที่มีผลงานให้ชื่นชมมากมาย อาทิ ซีรีส์ Sherlock หรือภาพยนตร์เรื่อง Doctor Strange, Star Trek Into Darkness

เนื้อเรื่องเป็นเชิงชีวประวัติ ทว่านำมาดัดแปลงให้มีสีสันและความสนุกชวนลุ้นมากขึ้น โดยเล่าถึงภารกิจลับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อลัน ทัวริง มีส่วนร่วมในการทำภารกิจแก้ไขรหัสลับอินิกม่า (Enigma) ที่กองทัพนาซีใช้ส่งข่าวสาร ซึ่งโค้ดลับเหล่านั้นอาจทำให้กองทัพฝ่ายอังกฤษพ่ายแพ้ในสงครามโลกได้ เนื่องจากไม่มีใครสามารถอ่านความหมายออก ทัวริง จึงอาสาทำหน้าที่แกะรหัสด้วยความเต็มใจ และพยายามสร้างเครื่องจักรกลไกหนึ่งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ถอดรหัสเหล่านั้นแทนการใช้สมองมนุษย์ และเครื่องจักรที่ชื่อ่วา Bombe นี้เอง (ในเรื่องใช้ชื่อเพื่อนสมัยเรียนของทัวริง) ที่ช่วยหยุดสงครามโลกให้จบเร็วขึ้นกว่า 2 ปี และช่วยชีวิตผู้คนได้นับล้าน และกลายเป็นต้นแบบการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันด้วย

แม้ทุกอย่างฟังดูดำเนินไปอย่างราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น แต่ความจริงแล้วในเรื่องและชีวิตจริง อลัน ทัวริง ต้องเจอกับอุปสรรคและความกดดันจากรัฐบาลมากมาย อีกทั้งเขายังมีอุปนิสัยไม่เข้าสังคม ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ ทว่าต้องทำงานไขรหัสกันเป็นทีม รวมถึงรสนิยมทางเพศที่ชอบผู้ชายด้วยกันอีก ที่เขาต้องปิดบังให้เป็นความลับ เนื่องจากกฎหมายประเทศอังกฤษในยุคนั้น ถือว่าการชอบเพศเดียวกันมีความผิดทางอาญา

หากใครเคยอ่านประวัติของ อลัน ทัวริง คงรู้กันแล้วว่าสุดท้ายความลับของเขาก็ถูกเปิดเผย แต่เราจะไม่เล่าอะไรไปมากกว่านี้ เพราะอยากให้ทุกคนได้ลองชมและสัมผัสชีวิตของทัวริงผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง ก่อนมาตอบคำถามของเขากันว่า "Am I a war hero? Or am I a criminal?" (ผมเป็นวีรบุรุษสงคราม หรือเป็นอาชญากรกันแน่?)

The Imitation Game ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 8 สาขา และชนะรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Writing, Adapted Screenplay) นอกจากนั้น อลัน ทัวริง ยังได้รับคัดเลือกให้มีใบหน้าปรากฎอยู่บนธนบัตรใบละ 50 ปอนด์ของอังกฤษอีกด้วย โดยธนบัตรจะเริ่มใช้ในปี 2021

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา