[title]
ข่าวดีอีกหนึ่งเรื่องสำหรับคนไทยในเดือนนี้มาพร้อมกับความสวยงามจับใจของวิววัดอรุณฯ เราเชื่อว่าโลกนี้มีสถานที่ที่ดูงดงามราวกับหลุดมาจากในหนัง จนแทบไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นของจริง และแน่นอนเลยว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ ก็คือหนึ่งในสถานที่นั้น และถ้าใครเคยได้เห็นวัดอรุณฯ ยามเย็นตอนที่แม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีทองแดงแล้ว เราก็จะไม่แปลกใจถ้าคุณจะคิดว่ามันคือกราฟิกซีจีมากกว่าของจริง
แต่เดือนนี้ ปรางค์สูงทรงขอมที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากเศษเครื่องลายคราม เปลือกหอย และแรงศรัทธาของคน ได้รับการยอมรับที่ยิ่งใหญ่มากกว่าสตอรี่พระอาทิตย์ตกในอินสตาแกรม เพราะมันได้เข้าไปอยู่ใน ‘บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของมรดกโลก’ โดยองค์การยูเนสโกอย่างเป็นทางการแล้วตอนนี้
ถ้าพูดกันตามตรง วัดโบราณแห่งนี้ก็ยังไม่ถึงขั้นขึ้นเป็นมรกดโลกเต็มตัว แต่ก็ไม่ต้องใจเสียกันไป เพราะรองอธิบดีฝ่ายวัฒนธรรมของยูเนสโก ได้เป็นคนเซ็นจดหมายตอบรับฉบับนั้นเองกับมือ พร้อมชื่นชมการเสนอชื่อนี้ด้วยตัวเอง เขายืนยันว่าพระปรางค์วัดอรุณฯ ผ่านเกณฑ์ที่มีครบทุกข้อ ทั้งด้านความศักดิ์สิทธิ์ ประวัติศาสตร์ และความงามทางสถาปัตยกรรมที่มรดกโลกควรจะมี
คนไทยเรียกที่นี่ว่า ‘วัดแจ้ง’ หรือ ‘Temple of Dawn’ แต่ความงามของวัดอรุณฯ ไม่ได้มีแค่แสงอาทิตย์ยามเย็น แต่พระปรางค์ที่สูงถึง 82 เมตร ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมืองกรุงของเรา ว่ากันว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากเขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาลในตำนานพุทธศาสนา
แต่ในขณะที่แลนด์มาร์กอื่นอาจเน้นความสวยงามตระการตาด้วยทองคำ แต่วัดอรุณฯ กลับโดดเด่นออกมาด้วยพื้นผิวและรายละเอียดจากโมเสกลายดอกไม้ที่รังสรรค์จากเศษถ้วยชา ฝังทีละชิ้นด้วยมืออย่างพิถีพิถัน มันเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เหมือนกับผ้าทอชิ้นโบว์แดง ซึ่งทั้งบอบบางแต่ก็เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความขลัง
ความงดงามนี้ไม่ใช่มรดกที่ถูกเก็บไว้หลังม่านกำมะหยี่ในพิพิธภัณฑ์ แต่วัดอรุณฯ ยังมีชีวิตชีวา และเต็มไปด้วยลมหายใจของผู้คนมากมาย ตั้งแต่พระสงฆ์เดินธุดงค์เท้าเปล่าผ่านนักท่องเที่ยว ที่สวมหมวกของฝากที่ขายข้างหน้าวัด และคนท้องถิ่นที่ยังคงมากราบไหว้บูชาพระปรางค์ ขณะที่เสียงแตรจากเรือเดินทางดังก้องไปทั่วฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
วัดอรุณตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าง ความศรัทธา และความวุ่นวายของชีวิตคนเมืองกรุง และนี่ คือสิ่งที่ทำให้สถานที่แห่งนี้มีความเป็นไทยอย่างแท้จริง โดยตอนนี้ กรุงเทพฯ มีแผนการอนุรักษ์ วัดอรุณฯ ให้สมเกียรติ สมศักดิ์ศรี ภายใต้การดูแลของหน่วยโบราณคดี โดยการรับฟังเสียงจากผู้คน ที่อาศัยอยู่บริโวณโดยรอบวัดจริงๆ เพราะเมื่อพูดถึงคำว่า ‘มรดกโลก’ มันไม่ใช่แค่การรักษาอิฐ ปูน หรือโครงสร้างของสถานที่นั้นๆ แต่สิ่งที่ต้องคงไว้ให้ได้คือจิตวิญญาณของสถานที่นั้นต่างหาก
การเสนอชื่อครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามภายในสถานที่นั้นๆ แต่มันคือการส่งสารถึง
โลกกว้างออกไปว่า วัฒนธรรมไทยเราสามารถไปไกลได้โดยไม่ต้องอวดอ้างใคร และสามารถมีความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณได้ โดยไม่ต้องหันหลังให้กับชีวิตสมัยใหม่ และถ้าวันหนึ่งพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างเต็มตัว มันจะไม่ใช่แค่ชัยชนะด้านการอนุรักษ์ แต่มันจะเป็นหลักฐานว่า สิ่งที่เป็น ‘ไทยแท้’ ก็สามารถยืนหยัดโดดเด่นบนเวทีโลกได้ พร้อมเศษเปลือกหอย เศษถ้วย และหัวใจทั้งหมดที่รวมกันเป็นวัดแห่งนี้