รู้จักกับ 3 อนิเมเตอร์ชาวไทยในทีมเบื้องหลัง Avengers: Infinity War

Sopida Rodsom
เขียนโดย
Sopida Rodsom
การโฆษณา

[ไม่มีสปอยล์เนื้อหาภาพยนตร์ Avengers: Infinity War]

 

หลายๆ คนน่าจะมีโอกาสไปดูภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ฟอร์มยักษ์แห่งปีอย่าง Avengers: Infinity War กันมาแล้ว (บางคนไปดูหลายรอบแล้วเหอะ) สำหรับแฟนๆ มาร์เวล สิ่งหนึ่งที่รู้กันดีคือการรอชมฉากพืเศษหลัง end credit ซึ่งทำให้เราได้มีโอกาสนั่งดูรายชื่อนักแสดงและทีมงานกันเพลินๆ (ไม่ก็อั้นเข้าห้องน้ำกันสุดๆ) เรื่องน่าดีใจสำหรับ Infinity War ครั้งนี้ก็คือเราได้เห็นชื่อคนไทยถึง 3 คนในทีม Animation คือ บัว-ทิฆัมพร ทีปะปาล, เอ็กซ์-วีรพงศ์ จังสมบัติศิริ และเหลิม-เฉลิมพล วัฒนวงศ์ตระกูล สามอนิเมเตอร์ชาวไทยในทีมเบื้องหลังภาพยนตร์นี้

Time Out Bangkok ขอสัมภาษณ์ทำความรู้จักพี่ๆ ที่สามคนผ่านทางอีเมล เกี่ยวกับเส้นทางการทำงาน การร่วมงานกับแฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่ และโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ในอนาคตมาให้แฟนๆ มาร์เวลได้รู้จักกัน

 

 

มาเข้าร่วมกับโปรเจ็กต์ Avengers: Infinity War ได้อย่างไร และรับหน้าที่ส่วนไหนบ้าง

เหลิม: ผมอยากทำหนังของมาร์เวลมาตลอด อยากจะมีชื่ออยู่ในนั้น เพราะมันคือความฝันของเราทุกคนก็ว่าได้ ผมก็เลยเอาวิชาความรู้ทั้งหมดทุ่มไปกับการสร้าง demo reel แบบเจาะจงไปในทางที่ใกล้เคียงกับหนังของมาร์เวล เช่นฉากแอ็กชั่นเสมือนจริง ฉากหุ่นยนต์สู้กัน ทำสัดว์ประหลาดให้ดูน่ากลัวๆ จนได้มีโอกาสมาร่วมงานกับบริษัท Framestore หนึ่งในออฟฟิศผู้ผลิตหนังมาร์เวล ในฐานะอนิเมเตอร์ที่รับผิดชอบการเคลื่อนท่าทางแอ็กชั่นต่างๆ ของตัวละคร เช่น Iron Man และ Doctor Strange เป็นต้น รายละเอียดที่ยกตัวอย่างได้ง่ายๆ ก็คือฉากที่นักแสดงจริงหรือสตั้นแมนเล่นได้ยาก เช่น บินบนท้องฟ้า หรือโดนต่อยแล้วลอยไปกระแทกกำแพงแรงๆ จนตึกรามบ้านช่องถล่ม นั่นก็คือหน้าที่ของเราที่จะทำให้ภาพเหล่านั้นดูเสมือนจริงครับ

บัว: ตอนอยู่เมืองไทยผมทำงานชิ้นหนึ่ง ความยาวประมาณ 20 วินาที ที่โพสต์ลงในโซเชียลและกระแสดีมาก มากจนเลยไปเข้าตา animation supervisor ของ Framestore ซึ่งส่งอีเมลชวนมาไปทำงานด้วยกัน โดยโปรเจ็กต์แรกที่ทำคือ King Arthur: Legend of the Sword พอใกล้จบ [ทีมงาน] จะดูผลงานและความถนัดว่าเหมาะจะทำเรื่องไหน ซึ่งผมได้มาทำ Guardians of the Galaxy Vol. 2 ต่อด้วย Thor: Ragnarok จนมาถึง Avengers ซึ่งเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในสามตัวเลือกที่มีถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเหนื่อยมากแน่ๆ แต่ก็เต็มใจ เพราะคือความใฝ่ฝันที่ผมรอมานาน หน้าที่รับผิดชอบของผมจะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของตัวละคร คือ Ebony Maw Spider-Man และ Iron Man ซึ่งเป็นตัวละครที่ผมชอบมากอยู่แล้ว

 

 

เอ็กซ์: Framestore ที่ลอนดอนเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผมอยากจะร่วมงานด้วยมากที่สุดตั้งแต่เริ่มทำงานในวงการนี้เลยก็ว่าได้ โดยก่อนหน้าที่จะส่งไปสมัครที่นี่ ผมเตรียมการโดยมีพี่เหลิมเป็นที่ปรึกษา โดยหลังจากทำงานส่วนตัวเสร็จจำนวนหนึ่งบวกกับมีประสบการณ์การทำงานรวมแล้วประมาณ 6 ปี ผมก็ตัดสินใจลองส่ง demo reel ไปสมัคร แต่ไม่สมหวัง หลังจากที่ท้อไปซักพักใหญ่ก็ได้เรียนรู้ว่างานตอนนั้นยังไม่สามารถพาผมไปในบริษัทใหญ่ระดับสากลได้ เลยพยายามตั้งหลักใหม่และทำงานให้ดีกว่าเดิม [เพื่อสมัครอีกครั้ง] หลังจากนั้นราว 4 เดือน ผมก็ได้รับอีเมลจากฝ่ายสรรหาของ Framestore ซึ่งผมทั้งตกใจและดีใจมาก โดยบริษัทได้จัดให้ไปลงโปรเจ็กต์ Thor: Ragnarok เป็นงานชิ้นแรกครับ ช่วงที่โปรเจ็กต์ใกล้จะจบทางบริษัทได้สอบถามพนักงานว่ามีความประสงค์ที่จะทำโปรเจ็กต์อะไรต่อ ผมเลือก Avengers: Infinity War ไปจากสามตัวเลือกที่มีและก็ได้มาเข้าร่วมกับโปรเจ็กต์นี้ครับ โดยหน้าที่ของอนิเมเตอร์ในสาขา visual effects คือการทำภาพเคลื่อนไหวของ CG ตัวละครบางตัวหรือในบางฉากจะเป็น CG ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพราะนักแสดงไม่สามารถทำท่าทางเหนือมนุษย์เช่นนั้นได้ เช่น ฉากบินของ Iron Man หรือฉาก Spider-Man โหนใย เป็นต้น ตัวละครที่ผมได้รับมอบหมายมีอยู่ราวๆ สามตัว คือ Iron Man, Doctor Strange และลูกสมุนของ Thanos ที่ชื่อ Black Dwarf อีกหนึ่งตัวครับ

 

 

ทีมงานในส่วนอนิเมเตอร์ของ Avengers: Infinity War มีกี่คน และต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

เอ็กซ์: ทีมงานอนิเมเตอร์ที่รับผิดชอบโปรเจ็กต์ Avengers ใน Framestore จะมีราวๆ 30 คนครับ สำหรับเรื่องการปรับตัวนี่มีหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน อย่างแรกคือเรื่องเทคนิคและระบบการทำงานต่างๆ นั้นค่อนข้างจะต่างกับที่ไทย ผมจึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจอยู่พอสมควรในช่วงเริ่มแรก อย่างที่สองคือเรื่องคุณภาพของงานที่เราจะต้องทำให้ถึงมาตรฐานระดับสากล ซึ่งทุกคนที่ทำงานที่นี่เป็นเหมือน all star ที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่คนเก่งอยู่เต็มไปหมด บางครั้งก็ทำให้กดดันตัวเองอยู่บ้างว่าเราต้องตามพวกเขาให้ทัน ต้องพยายามดูและศึกษางานดีๆ ที่คนอื่นทำอยู่ตลอดเวลาทั้งในเวลางานและหลังเลิกงาน อย่างที่สามคือเราต้องรู้ว่าการทำงานอนิเมชั่นให้กับสาขาของ Visual Effects นั้นแตกต่างจากสาขาอื่นอย่างไร ในสาขานี้ต้องการความสมจริงสูงมาก เวลาทำงานอนิเมชั่นต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ต้องใส่ใจในธรรมชาติและรายละเอียดของการเคลื่อนไหวของร่างกายของคนหรือสัตว์ และปัจจัยของสิ่งแวดล้อมที่สามารถจะกระทบการเคลื่อนไหวของตัวละครได้ เช่น แรงโน้มถ่วง ลม พื้นหญ้า ทุกโจทย์จะมีความยากแตกต่างกันไป เหมือนเราได้ลองท้าทายตัวเองและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

เหลิม:ช่วงที่ผมเข้ามานั้นเป็นช่วงท้ายๆ ของโปรเจ็กต์ เวลาการทำงานต่างๆ ก็จะเร่งเป็นพิเศษ มีการตรวจงาน มีการเช็คความเรียบร้อยของตารางงานค่อนข้างรัดกุม และจะซีเรียสมากๆ เพราะหนังใกล้จะฉายแล้ว การปรับตัวในการมาทำงานที่อังกฤษกับออฟฟิศนี้ ผมโชคดีดีที่ได้ทั้งเอ็กซ์และบัว คอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา และลักษณะระบบก็ไม่ได้ต่างจากไทยและญี่ปุ่นมาก ผมเลยปรับตัวให้เข้ากับระบบได้เร็ว แต่ที่จะปรับตัวคือเรื่องคนและวัฒธรรมการกินอยู่การใช้ชีวิตที่นี่ ซึ่งมันต่างจากไทยและญี่ปุ่นมากๆ แต่ในสุดท้าย ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดีครับ

บัว: การปรับตัวส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงสัปดาห์แรก ที่ต้องทำความเข้าใจสไตล์การให้คอมเมนต์จาก animation supervisor ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้ร่วมงานกับคนนี้ ส่วนเพื่อนร่วมงาน ก็ไม่มีปัญหาส่วนใหญ่เราเคยทำงานกันมาก่อน และตัวผมเองก็ผ่านหนังมาเวล์มาแล้วสองเริ่องเลยไม่มีปัญหากับการปรับตัวมากนัก

 

Avengers: Infinity War / Marvel Studios

 

สิ่งที่ยากหรือท้าทายที่สุดในการทำงานใน Avengers: Infinity War อยู่ที่ตรงไหน

บัว: สิ่งที่ยากที่สุดคือการปรับแก้อยู่ตลอดเวลา แต่เราต้องยอมรับตรงนี้ให้ได้เพราะเราปรับแก้เพื่อให้ได้ choice ที่ดีที่สุดของช็อตๆ นั้น

เอ็กซ์: เรื่องที่ท้าทายที่สุดคงจะเป็นเรื่องของการจบงานให้ได้ในระดับมาตรฐานที่ทางบริษัทต้องการ ทักษะของคนที่นี่ถือว่าสูงมากแต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะทำช็อตผ่านกันได้ง่ายๆ งานทุกชิ้นที่ได้รับมามีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา มีบ่อยครั้งที่ชิ้นงานของหลายๆคนยังไม่ถูกใจ supervisor หรือผู้กำกับก็ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ เป็นหลายสิบเวอร์ชั่นก็มีจนกว่าเขาจะให้ผ่าน บางคนทำช็อตเดียวความยาวฉายเพียงไม่กี่วินาทีไม่ผ่านเป็น 4-5 เดือนก็มีครับ

เหลิม: คือการทำความเข้าใจในแต่ละตัวละครนะครับ ว่าตัวนี้มีท่าทางการเคลื่อนไหวยังไง การเดินการวิ่งการพูดเป็นยังไง ทำยังไงถึงจะไม่หลุดไปจากคอนเซ็ปต์ที่มาร์เวลเขาเซ็ตไว้ว่า Iron Man จะเหาะยังไง จะยิงปืน จะเรียกอาวุธยังไง ทุกอย่างมีรายละเอียดและดีเทลสูงมากๆ ทำพลาดนิดหน่อยก็โดนเล่นทันที (หัวเราะ) ผมโดนแก้ช็อต Iron Man ทุกๆ สองชั่วโมง เพราะทำไม่ถูกใจเขาก็โดนมาแล้ว บางคนทำ Spider-Man มา 3-4 เดือนโดนตัดออกเพราะลูกค้าไม่ต้องการ หรือด้วยเหตุผลเรื่องเวลาอะไรก็แล้วแต่ ก็มีให้เห็นๆ กันมาแล้ว สิ่งที่ท้าทายในโปรเจ็กต์นี้คือเราต้องเรียนรู้ทุกวันนะครับ เพราะเราจะต้องคิดไว้เสมอว่างานเรานั้น มีโอกาสที่จะถูกแก้ ถูกรื้อทำใหม่ตลอดเวลา เราต้องหาทางหนีทีไล่ ว่าจะทำยังไงให้งานเราถูกใจเขามากที่สุด อย่าคิดว่าเทคเดียวจะผ่าน ต้องคิด เผื่อไว้หลายเทค หลายแบบครับ มันก็จะทำให้เราได้มุมองอะไรใหม่ๆเยอะมากขึ้นด้วย

 

Avengers: Infinity War / Marvel Studios

via GIPHY

 

หลังจากนี้พี่ๆ มีแผนจะทำงานหรือโปรเจ็กต์อะไรบ้างในอนาคต

บัว: ในอนาคตผมมีวางแผนไว้คร่าวๆ ว่าอยาก หาช่องทางแบ่งปันประสบการณ์ให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ที่อยากเป็นอนิเมเตอร์ และวางแผนอยากสร้างทีม previs และทีม animation ที่มีความเป็นมืออาชีพและพร้อมที่จะทำงานในระดับสากลได้ครับ

เอ็กซ์: ยังมีอีกหลายโปรเจ็กต์และหลายสตูดิโอชั้นนำของต่างประเทศที่ผมใฝ่ฝันอยากจะเข้าร่วมด้วยครับ และทุกวันนี้ผมก็ยังพยายามพัฒนาตนเองเรื่อยๆ เพื่อการนั้นอยู่ ในอนาคตหลังจากบรรลุเป้าหมายหลายๆ อย่างและเก่งขึ้นมากแล้วผมวางแผนที่จะกลับไทยเพื่อนำประสบการณ์ แง่คิด และองค์ความรู้ที่ผมได้เรียนรู้จากที่นี่ไปแบ่งปันให้กับคนในประเทศไทยครับ

เหลิม: ตอนนี้ผมพยายามศึกษาและตักตวงความรู้ตรงนี้ให้ได้อย่างเต็มที่ให้ได้มากที่สุดครับ เพราะว่าการที่ผมได้มีโอกาสมาอยู่ที่นี่ ถือว่าเป็นความโชคดีมากๆ เมื่อเทียบกับต้นทุนในชีวิตผม  เพราะฉะนั้นแผนของผมภายในระยะเวลาอันใกล้ๆ นี้ ผมจะทุ่มเทศึกษาทุกอย่างที่มันจำเป็นต่อการพัฒนางานให้ออกมาเป็นที่ยอมรับในที่สากลมากขึ้น เพราะตอนนี้ผมตระหนักเห็นแล้วว่ามีอะไรบ้างที่เรายังห่างจากเขาอีกมาก ทั้งเรื่องความคิดและฝีมือ อะไรบ้างที่เราต้องปรับต้องจูนต้องแก้ไขและต่อยอด ผมอยากจะทำหนังต่อไปเรื่อยๆเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวยนะครับ สุดท้ายแล้วแผนในอนาคตของผมเลยยังไม่แน่นอน ขอให้ได้เรียนรู้ให้เต็มที่ก่อน แค่นี้ผมก็พอใจแล้วครับ

 

Avengers: Infinity War / Marvel Studios

via GIPHY

 

อยากฝากข้อแนะนำอะไรให้น้องๆ ที่อยากเป็นอนิเมเตอร์ หรือคนที่อยากร่วมงานโปรเจ็กต์ระดับฮอลลีวู้ดบ้าง

บัว: ถ้ามีความฝันก็ลุยเลย อย่ายอมแพ้ อย่ากลัวที่จะตามล่าความฝัน และค่อยๆ ใช้เวลาศึกษาและลงมือทำ แต่ไม่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจมากเกินไปจนเหนื่อยมาก เพราะจะทำให้ท้อได้ แต่สิ่งสำคัญคืออย่าหยุด เพราะสุดท้ายแล้ววันนั้นจะมาถึงเอง และพอเมื่อวันนั้นมาถึง เราจะกลับมาขอบคุณตัวเองที่ไม่ท้อ และทำตามฝันนั้น อย่างน้อยตอนนี้ก็มีคนไทยทำให้ดูแล้วว่ามันเกิดขึ้นจริง (หัวเราะ)

เหลิม: ก่อนอื่นเราต้องหาข้อมูลนะครับว่าอนิเมเตอร์คืออาชีพในหมวดไหน ทำหน้าที่อะไร สิ่งที่ได้รับเป็นอย่างไร พอเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทุ่มแรงลงมือทำคืออะไร เราจะไปได้เร็วขึ้น มีเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้นทุกๆ วันที่เราทุ่มเทความพยายามลงไป แต่ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย ทำเอามันทำเอาเท่ อาชีพนี้จะเล่นงานคุณอย่างแน่นอน เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเก่งกาจขึ้นมาในเวลาเพียงข้ามปี มันต้องอาศัยความอดทน หมั่นฝึกฝน วิเคราะห์งานในหลากหลายรูปแบบ และหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา พอเราได้ภาพรวมคร่าวๆ แล้วเราก็ควรมาหาสไตล์ที่ตัวเองชอบ สไตล์ที่ตัวเองทำแล้วรู้สึกสนุกมีความสุข เน้นตรงนั้นให้มาเป็นจุดแข็งของเรา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เวลาเราออกไปสมัครงานต่างประเทศ 

        ผมขอสรุปง่ายๆ ว่า ... (1) ทำให้ตัวเองชอบที่จะทำงานด้านนี้ให้ได้ (2) หาความรู้และพัฒนาฝีมือตัวเองตลอดเวลา (3) หาครูหรือโค้ชครับ งานอนิเมชั่นต้องมีคนสอนนะครับ เพราะการฝึกเองนั้นยากมาเพราะมีโอกาสสูงมากว่าคุณจะหลงทางและทำให้คุณเสียเวลา (4) หาโอกาสไปทำงานเพื่อให้คุ้นเคยกับระบบและความเป็นมืออาชีพ (5) เมื่อเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้ว เราก็ควรทำ demo reel เพื่อเตรียมพร้อมในการสมัครงานต่างประเทศ (6) หาออฟฟิศในฝันที่อยากไป เตรียมงานของเราให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาต้องการ หรือสิ่งที่เขาเคยทำมา ตรงนี้จะช่วยเพิ่มคะแนนให้ได้เยอะมากๆ ครับ และสุดท้าย (7) ฝึกภาษาควบคู่ไปด้วย จะช่วยได้มากครับ

เอ็กซ์: เรื่องของ passion หรือความหลงใหลในสิ่งที่ทำ อาจจะเป็นเรื่องที่ได้ยินกันบ่อยๆ อยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องย้ำจริงๆ เพราะถ้าเราไม่มี passion ในสายงานที่เราทำแล้วเราจะต้องฝืนตัวเองอยู่ตลอดเวลาในการทำงาน เราจะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ได้แน่นอนถึงแม้ว่าเราจะเก่งขนาดไหนก็ตาม ในสายงานอนิเมชั่นนั้น ตลอดระยะทางไปยังจุดหมาย เราจะพบว่ามีแต่คนที่มี passion ล้นหลามอยู่เต็มไปหมด หากเราไม่ชอบในสิ่งที่เราทำ เราจะไปสู้กับคนที่หลงใหลในสิ่งที่เขาทำได้อย่างไร ค้นหา passion ของตัวเองให้เจอครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นอนิเมชั่นก็ได้แต่เป็นสิ่งที่เราทำแล้วหลงใหลไปกับมัน เราจะสามารถพัฒนาตัวเองได้มากกว่า

        แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเป็นเรื่องง่ายเพราะว่าเรามี passion นะครับ เรายังต้องเจอกับความยากลำบากที่ทุกคนในสายงานนี้ต้องเจอแน่นอน ทุกคนล้วนต้องผ่านความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน แต่ passion นี่เองจะเป็นตัวค้ำจุนให้เราสามารถลุกขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆ และพร้อมที่จะลองท้าทายกับมันอีกที เมื่อเกิด passion เราจะมี persistence หรือความดื้อรั้นที่จะทำต่อ นอกจากสองอย่างนี้แล้ว อีกอย่างที่เราต้องมีคือ patience หรือความอดทนอดกลั้น ความใจเย็น เพราะทุกเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่นั้นล้วนต้องใช้เวลานาน มีคนกล่าวไว้ว่าการจะได้มาซึ่ง mastery หรือความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพหนึ่งนั้นล้วนใช้เวลาหลายสิบปีหรือชั่วชีวิต ความสำเร็จที่เราเห็นกันบ่อยๆ นั้น จริงๆ แล้วมาจากความมีวินัยและการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดทีละน้อยๆ ทุกวัน ผ่านความล้มเหลวและลุกขึ้นยืนใหม่หลายครั้งจนนับไม่ถ้วน รวมกันเป็นทักษะและประสบการณ์ที่เพียงพอที่จะพาเราไปถึงจุดหมาย 

 

_____________________________________________

 

(จากซ้ายไปขวา) เอ็กซ์-วีรพงศ์ จังสมบัติศิริ, เหลิม-เฉลิมพล วัฒนวงศ์ตระกูล และบัว-ทิฆัมพร ทีปะปาล

 

Who's who 

 

บัว-ทิฆัมพร ทีปะปาล

อายุ: 31 ปี
การศึกษา: คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขามัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
การเริ่มงานสายอนิเมชั่น: จากความชื่นชอบใยการ์ตูนและอนิเมชั่นมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะหลังจากได้ชมภาพยนตร์ Toy Story ช่วยอยู่มหาวิทยาลัย บัวจึงตัดสินใจว่าจะต้องเป็นอนิเมเตอร์ให้ได้ และพยายามเดินตามเส้นทางนี้มาตลอด จนได้ทำงานกับบริษัท อัญญา แอนนิเมชั่น เป็นบริษทแรก "ผลงานอนิเมชั่นเรื่องแรกเลยที่ไม่ใช่งานภาพยนต์คือ เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ ตอนนั้นผมตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้ทำงานด้านนี้ กลับบ้านดึกๆ ทุกวัน เพราะสนุกและอยากอยู่กับมันนานๆ" 
โปรเจ็กต์ในปัจจุบัน: "ปัจจุบันนี้ทำ โปรเจ็กต์ Solo: A Star Wars Story อยู่ครับ เป็นอีกโปรเจ็กต์ที่ผมเองรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มีส่วนร่วมในหนังเรื่องนี้"

 

เอ็กซ์-วีรพงศ์ จังสมบัติศิริ

อายุ: 32 ปี
การศึกษา: LASALLE College of the Arts ประเทศสิงคโปร์
การเริ่มงานสายอนิเมชั่น: หลังจากทำงานบริษัทเกมส์ที่เมืองไทยได้ 2 ปีครึ่ง เอ็กซ์ตัดสินใจศึกษาต่อด้านงานอนิเมชั่น และได้สมัครเรียนกับคอร์สออนไลน์ iAnimate.net และที่ On One Animation ที่ ตุลย์-วีรภัทร ชินะนาวิน (เจ้าของ Riff Studio) เปิดคลาสสอนอยู่ "ผมได้พบเจอกับพี่เหลิมที่เป็นผู้สอนคลาสที่ผมเรียนอยู่ หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมโปรเจ็กต์ 9 ศาสตรา กับพี่เหลิม และได้ร่วมงานกันแล้วต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ครับ"
โปรเจ็กต์ในปัจจุบัน: "ปัจจุบันนี้กำลังมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์ภาพยนตร์อีกเรื่อง แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ครับ"

 

เหลิม-เฉลิมพล วัฒนวงศ์ตระกูล

อายุ: 34 ปี
การศึกษา: คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 
การเริ่มงานสายอนิเมชั่น: ด้วยความที่อยู่กับคอมพิวเตอร์เยอะ และชอบวาดการ์ตูนตั้งแต่เด็กๆ ประกอบกับมีโอกาสได้ซื้อโปรแกรมสอนทำอนิเมชั่น เช่น 3ds Max มาลองฝึกด้วยตัวเอง เหลิมจึงมีโอกาสได้เริ่มรับจ้างทำพรีเซนต์ และทำ demo reel เพื่อส่งไปสมัครงานที่อนิเมชั่นสตูดิโอต่างๆ ในเมืองไทย จนได้ฝึกงานที่ The Monk Studio ที่มีอาจารย์มาจาก Pixar และได้เรียนการทำอนิเมชั่นอย่างจริงจังกับ ตุลย์-วีรภัทร ชินะนาวิน และ ณัฐ ยศวัฒนานนท์ (ผู้กำกับ 9 ศาสตรา)
        "สุดท้ายผมก็สร้างทีมอนิเมเตอร์ที่ Igloo Studio ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากพี่ณัฐมากมาย ผมได้เรียนรู้วิชาที่จะเอาจะชนะใจคนดู วิธีการมองงาน โดยเฉพาะฉากแอ็คชั่นต่างๆ  จนทำให้ผมมีความรู้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถึอว่าการตัดสินใจมาทำกับพี่ณัฐ เป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในชีวิตการเป็นอนิเมเตอร์ของผม" เหลิมยังได้ส่ง Demo Reel ไปบริษัทต่างประเทศ แต่ก็โดนปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า "สุดท้ายฟ้าก็เปิดใจยอมรับผม สงสัยฟ้าเขาคงรำคาญในความหน้าด้าน หรือยอมแพ้ต่อความพยายามของผมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผมได้รับโอกาสได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่นกับสองออฟฟิศชั้นนำอย่าง Polygon Picture และ Marza Planet Studio มันก็ทำให้ถนนของผมกว้างขึ้น ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากขึ้น ได้เห็นได้ประสบการณ์อะไรที่เราไม่เคยได้ในไทยมาก่อน เลยทำให้ผมมีความรู้เพิ่มขึ้นไปอีกหนึ่งขีด และทำให้มีการพัฒนา demo reel ของตัวเองเริ่มมีข้อผิดพลาดน้อยลง และบวกกับเราเริ่มมีความมั่นใจในการทำงานที่มากขึ้นด้วยครับ"
โปรเจ็กต์ในปัจจุบัน: "ตอนนี้ใบ้ว่าทำของดิสนีย์นะครับ (หัวเราะ) ผมยังไม่อยากบอกข้อมูลมาก อยากรอให้ตัวอย่างหนังออกมาอย่างเป็นทางการก่อนครับ

 

_____________________________________________

 

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา