Insect in the backyard
Insect in the backyard

หอภาพยนตร์จัดโปรแกรมรับเดือนไพรด์ ฉายหนังเควียร์ไทยในตำนานกว่า 40 เรื่อง ดูกันยาวๆ วันนี้ - กรกฎาคม 2566

หอภาพยนตร์ เปิดทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 9.30 - 17.30 น.

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

เดือนไพรด์ปีนี้ขอชวนดูหนัง LGBTQ+ กันทั้งเดือนกับโปรแกรม Thai Queer Cinema Odyssey ที่หอภาพยนตร์ได้คัดสรรหนังเควียร์ไทยในตำนานกว่า 40 เรื่องที่นำเสนอความหลากหลายทางเพศจัดฉายให้ดูกันต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม 2566

โปรแกรมหนังจะแบ่งเป็น 3 ชุด คือ หนังเควียร์ไทยยุคก่อน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นหนังเควียร์คลาสสิกที่บันทึกค่านิยมของผู้คนในยุคสมัยหนึ่งไว้ และหนังเควียร์ไทยยุคหลัง ค.ศ. 2000 หรือหนังเควียร์ร่วมสมัย ซึ่งแยกออกเป็น 2 ชุด คือ หนังเควียร์กระแสหลักและหนังเควียร์กระแสทางเลือก

สำหรับโปรแกรมเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน จะฉายหนังทั้งหมด 21 เรื่อง เริ่มด้วยหนังเควียร์คลาสสิก เรื่องที่น่าดู เช่น กุ้งนาง (2519) ที่พูดถึงเด็กสาวผู้ถูกปลูกฝังให้เข้าใจว่าตนเป็นชายเพื่อไม่ให้ถูกผู้ชายหลอกลวง, นรกตะรุเตา (2519) หนังที่ตอกย้ำถึงความเชื่อของสังคมที่ว่าสภาวะความหลากหลายทางเพศถูกแก้ไขได้, เพลงสุดท้าย (2528) โศกนาฏกรรมความรักของหญิงข้ามเพศนางโชว์ชื่อดังที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย พร้อมภาคต่ออย่าง รักทรมาน (2530) ที่เล่าประเด็นความลื่นไหลทางเพศของตัวละครอย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้ยังมีหนังเควียร์ร่วมสมัยกระแสหลัก เริ่มด้วยหนังที่สร้างความฮือฮาระดับปรากฏการณ์อย่าง สตรีเหล็ก (2543) จากเรื่องจริงของทีมวอลเลย์บอลที่ประกอบด้วยคนหลากหลายทางเพศ ตามด้วย พรางชมพู กะเทยประจัญบาน (2545) ที่นำชะตาชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาเปรียบเทียบว่าไม่ต่างอะไรกับชนกลุ่มน้อย รวมถึง ปล้นนะยะ (2547), หอแต๋วแตก (2550) และ Me...Myself ขอให้รักจงเจริญ (2550)

และหนังเควียร์ร่วมสมัยกระแสทางเลือกที่เริ่มแตกสายออกมาอย่างชัดเจนหลัง ค.ศ. 2000 เช่น สัตว์ประหลาด! (2547) หนังเควียร์ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยการคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และผลงานของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 2 เรื่อง คือ Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2560) ซึ่งถูกห้ามฉายในปี 2553 ก่อนจะต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรมนานถึง 7 ปี และ It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก (2555) ที่ตั้งคำถามถึงสังคมเกี่ยวกับการยอมรับความหลากหลายทางเพศของคนในครอบครัว

ยังมีหนังเควียร์อีกหลายเรื่องหลายรสที่จะฉายในโปรแกรมนี้ต่อเนื่องไปถึงเดือนกรกฎาคม ที่หอภาพยนตร์ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เปิดทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 9.30 - 17.30 น. สำรองที่นั่งได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/program/100

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา