เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ควรจะต้องเรียนรู้แบบจริงจังจากงาน Movin’On Summit 2018 (ตอนที่ 2)

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

ในตอนแรก เราพูดกันถึงเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่ทางซีกโลกตะวันตกเห็นพ้องต้องกันไปแล้ว คราวนี้เรามาต่อกันถึงอีกแนวคิดหนึ่ง ที่เราๆ ท่านๆ ที่วันๆ ก็กิน-ดื่ม-เที่ยวอาจจะไม่คุ้นกัน แต่จากที่เราได้ไปฟังมาแอบอยากบอกว่าสำคัญมาาากกกกกกกก เป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขาที่แค่เปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียวก็อาจจะเปลี่ยนโลกได้

 

เราทุกคนต้องเริ่มเอาจริงเอาจริงกับ Circular Economy กันสักที

จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษ ในปี พ.ศ. 2560 เรามีปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศทั้งหมดประมาณ 27.4 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกถึงประมาณ 20% ซึ่งข้อมูลอีกด้านบอกเราว่าประเทศไทยมีการนำเอาขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่น้อยมากเพียงแค่ 5 แสนตันต่อปีเท่านั้น แล้วที่เหลือล่ะ?​ ประเทศเรากำจัดขยะส่วนใหญ่ด้วยวิธีฝังกลบ นำมาซึ่งการต้องหาที่ฝังกลบไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสนับสนุนการบริโภค เพราะเมื่อบริโภคก็จะต้องผลิตสินค้ามากขึ้น ขายได้มากขึ้น ได้กำไรมากขึ้น ค่าแรงมากขึ้น กลับไปสู่การบริโภคมากขึ้น วนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หรือถ้าอยากขายได้อีก ก็อาจจะผลิตสินค้าออกมาอีก ให้คนซื้อของใหม่ไปเรื่อยๆ ลองนึกถึงเวลามือถือรุ่นใหม่ออก แล้วเราอยากได้มากจนทิ้งเครื่องเก่าไปหาเครื่องรุ่นใหม่ทั้งๆ ที่เครื่องเก่าก็ยังใช้ได้ดีอยู่นั่นอย่างไร

ในเมื่อเรายังต้องพึ่งพาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันเราก็ยังต้องการจะลดขยะ ละมลภาวะไป และรักษาสิ่งแวดล้อมไปในเวลาเดียวกัน นั่นคือจุดที่แนวคิด Circular Economy ถูกพูดถึงในหลายๆ เวทีสัมมนาระดับโลก ... รวมทั้งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของงาน Movin’On ในครั้งนีเช่นเดียวกัน

 

 

Circular Economy คืออะไร? ง่ายๆ ก็คือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มุ่งเน้นการลดการใช้วัตถุดิบ ลดการใช้พลังงาน และลดการสร้างขยะและมลภาวะผ่านกระบวนการออกแบบ ซ่อมแซม นำกลับมาใช้ใหม่ซึ่งจะ “ยืดอายุ” ของวัสดุนั้นให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดยเรื่องนี้แม่งานอย่างมิชลินได้ประกาศภายในงานถึงการเป้าหมายในปี ค.ศ. 2048 ว่ามิชลินจะผลิตยางด้วยวัตถุดิบที่ยั่งยืนในสัดส่วนสูงถึง 80% และผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด 100% จะสามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ปัจจุบันนี้ปัจจุบันสัดส่วนการรีไซเคิลยางเกิดขึ้นที่ประมาณ 50% เท่านั้น โดยสำหรับมิชลินเองนั้น ใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนในการผลิตยางประมาณ 28% (ในจำนวนนี้มีวัตถุดิบที่นำกลับมาใช้ใหม่เพียง 2%)

 

 

แล้วยางที่มิชลินว่าจะสามารถรีไซเคิลได้ถึงร้อยละร้อยนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร? แน่นอนว่าพี่เบิ้มมิชลินนำเอายางต้นแบบที่กำลังพัฒนามาให้เราได้ชมกันในงาน Movin’On นี้ด้วย โดยเป็นยางที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบชีวภาพและวัตถุดิบรีไซเคิลด้วยการบวนการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ซึ่งยางนี้จะยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับรถเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมการขับของเจ้าของรถ และไม่เพียงแต่จะมีอายุยาวนาน แต่ยังสามารถเคลือบพื้นผิวที่สึกหรอจากการวิ่งได้่ตลอดอายุการใช้งานอีกด้วย! 

คำถามที่ตามมาคือแล้วถ้ายางใช้ได้นานขึ้น คนก็ไม่ต้องซื้อบ่อย แล้วบริษัทมิชลินจะไม่ประสบปัญหาเรื่องยอดขายหรือ? 

เรื่องนี้ Terry Gettys ผู้ซึ่งเป็น executive vice president - research and development ของมิชลินมีคำตอบ — ก็แค่เปลี่ยนวิธีคิดสิ

คุณเก็ตตี้ส์บอกกับเราว่าว่าธุรกิจของมิชลินอาจจะไม่ใช่การขายยางอีกต่อไป แต่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเดินทางสัญจร เขาเชื่อว่าคนยังจะเดินทางไปมาหาสู่กันต่อไป และอาจจะมากขึ้น เพียงแต่ในรูปแบบที่ต่างออกไป ดังนั้นมิชลินจึงไม่ได้มองอนาคตของบริษัทแค่วันพรุ่งนี้ แต่มองไปในอีกหลายสิบปีข้างหน้าเรียบร้อยแล้ว

ตัวอย่างหนึ่งที่คุณเก็ตตี้ส์ยกขึ้นมาพูดให้ฟังแล้วเราชอบมากคือยางเครื่องบิน ปัจจุบันมิชลินขายยางให้สายการบินต่างๆ ยางหมดอายุก็เปลี่ยนยาง แต่ถ้าลองเปลี่ยนวิธีคิดล่ะ ว่ามิชลินเปลี่ยนจากขายยางเป็นคิดเงินตามการใช้งานล่ะ ทุกครั้งที่ล้อแตะพื้นมิชลินได้เงิน นั่นหมายความว่าถ้ามิชลินคิดค้นยางที่ใช้งานได้นานเท่าไหร่ มิชลินก็จะได้เงินจากจำนวนครั้งที่ล้อแตะพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องผลิตยางเพิ่ม — ฉลาด!

 

ดูเขาแล้วย้อนดูเรา (ต่อ)

เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกของมิชลินอาจจะยังดูไกลตัวจากเราจนเรานึกภาพตามไม่ออก อันที่จริงวิธีการตามแนวคิด Circular Economy มีให้เห็นใกล้ๆ ตัวเรามากมายแค่บางทีเรานึกไม่ถึง โดยเฉพาะวิธี upcycle หรือการนำวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วมาผ่านการออกแบบดัดแปลงเป็นสินค้าชนิดใหม่เพื่อยืดอายุของวัสดุ เช่น ถ้าเราไปเดินเล่นแผนก ODS ที่ Siam Discovery ตอนนี้เราจะเจอกระเป๋าดีไซน์เท่ยี่ห้อ Scrap Shop ร้านประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ริเริ่มและดูแลโดย ดร.สิงห์ อินทรชูโต กระเป๋าโปร่งแสดงทันสมัยนี้ผลิตจากวัตถุดิบหลักคือถุงน้ำยาล้างไต ซึ่งเนื่องจากมีผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตอยู่เป็นจำนวนมาก ถุงน้ำยาล้างไตซึ่งผลิตจาก PVC คุณภาพสูงจึงกลายเป็นขยะเหลือทิ้งของหลายโรงพยาบาล การนำมาออกแบบใหม่จึงช่วยยืดอายุของวัสดุไปได้อีก

อีกแบรนด์ upcycle ที่เราไปเจอมาคือ The Remaker ของคุณยุทธนา อโนทัยสินทวี ที่ดูเผินๆ ก็เหมือนกระเป๋าหนังสวยๆ ทั่วไป แต่จริงๆ แล้วกระเป๋า The Remaker ทุกใบเกิดจากการนำเอาเสื้อหนังแท้ทิ้งแล้วจากยุโรปมาออกแบบตัดเย็บใหม่

 

 

“เรายึดคอนเซ็ปต์นี้ upcycle มาตลอด 13-14 ปี เรามองว่าวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมควรจะได้ใช้ประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ เลยเอามายึดอายุการใช้งานด้วยการ upcycle ให้เป็นผลิตภัณฑ์อีกแบบหนึ่ง” คุณยุทธนาบอกกับเรา “อุตสาหกรรมแฟชั่นนี่ค่อนข้างที่จะสร้าง waste ให้กับโลกเยอะนะ เรามองเห็นว่านอกจากเสื้อผ้า พวกเครื่องหนังนี่ก็เยอะมาก เลยอยากเอามาให้คนได้คิดให้คนได้ตระหนักว่ามันสร้างมลภาวะแค่ไหน และเราสร้างอะไรกับมันได้มากกว่าที่ ให้มันคุ้มค่ากว่าใส่ใน season นึง ทั้งๆที่คอนเทนต์ของวัสดุยังดีอยู่ เราแค่มาปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของมันจากที่มันเป็นเสื้อก็มาเป็นกระเป๋า ให้มามีประโยชน์อีกครั้งนึง เหมือนเป็นการเตือน ถึงแม้คุณไม่รู้เลยก็ถือว่าคุณได้ช่วยในทางอ้อม”

ด้วยความที่ผลิตด้วยมือจากเสื้อหนังตัวต่อตัว ทำให้กระเป๋าหนัง The Remaker ทุกใบมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร มีนำหนักเบา และราคาไม่แพง แถมความตลกอย่างหนึ่งคือ ตลาดใหญ่ของกระเป๋า The Remaker คือยุโรป ดินแดนต้นกำเนิดวัตถุดิบของกระเป๋านั่นแหละ! อย่างไรก็ดีตอนนี้คุณยุทธนาเริ่มจะวางขายในกรุงเทพฯ บ้างแล้ว โดยไปดูกันได้ที่ Siam Discovery, K Village และ Warehouse 30

แว่วว่าคอลเล็คชั่นใหม่จะมี sneakers ด้วย และแน่นอนว่าทำจากเสื้อหนังเก่าอีกเช่นเคย!

 

 

อ่านต่อตอนต่อไปได้สัปดาห์หน้าครับ

 

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา