มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน, Sand Pawarin

คุยกับแอดมิน 'มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน' ตลาดนัดออนไลน์ของเด็ก ม.ธ.

เรารักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เรารักการจับจ่าย

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

ถ้าคุณเป็นเด็กธรรมศาสตร์ ทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบัน คุณน่าจะได้รับคำชวนให้เข้าร่วม Facebook Group หนึ่ง ที่เผลอๆ จะกำลังขโมยเวลาของคุณแบบไม่รู้ตัว หรือถ้าคุณไม่ใช่เด็กธรรมศาสตร์ คุณน่าจะเห็นสเตตัสเพื่อนธรรมศาสตร์โพสต์กันรัวๆ ว่าหาทางออกจากกลุ่มฝากร้านกลุ่มหนึ่งไม่ได้ เพราะของแต่ละอย่างล่อตาล่อใจให้กดสั่งเสียเหลือเกิน

กลุ่มนี้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ซึ่งจะเป็นสมาชิกได้ก็ต่อเมื่อคุณได้รับคำชวนจากเพื่อน แต่ดูว่าเด็กธรรมศาสตร์น่าจะเพื่อนเยอะพอตัว เพราะตั้งแต่เริ่มต้นสร้างกลุ่มเมื่อวันที่ 7 เมษายน ตอนนี้สมาชิกเหยียบหกหมื่นคนเป็นที่เรียบร้อย

ขนมปัง โรตี ทุเรียน ข้าวสาร ปลาร้า ต้นไม้ คอนโด หมูป่า วัว จระเข้ ฯลฯ หลังจากซุ่มอยู่ในกรุ๊ปแบบเงียบๆ มาครบ 1 สัปดาห์ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์คนหนึ่ง เราพบว่ากรุ๊ปนี้หาทางออกยากจริงๆ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน

สี่หมื่นชีวิตที่ร้อยเข้าด้วยกันด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน กรุ๊ปลับนี้มีสมาชิกเพียงแค่ไม่กี่สิบคน ผ่านการชักชวนของแอดมินสาวสวย แซน-ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ศิษย์เก่าคณะศิลปะศาสตร์ เอกภาษารัสเซีย (ขออุบรุ่นคนจะได้เดาอายุไม่ถูก) ที่อยากให้เพื่อนที่อยากขายของกับอยากซื้อของมาเจอกัน

“แซนเห็นเพื่อนในเฟซบุคขายของเยอะ เห็นเพื่อนที่ศิลปกรรมฯ ขาย เห็นเพื่อนที่วารสารฯ ขาย เห็นเพื่อนที่ศิลปศาสตรขาย ทุกคนไม่รู้จักกันแต่ทุกคนรู้จักแซน ดังนั้นเวลามีคนตามหาของบางอย่าง แซนจะแบบ ‘เอ๊ะเมื่อกี๊เห็นแว็บๆ ว่าใครขาย’ ก็ไปเอาโพสต์ของคนนั้นมาให้คนนี้ ก็จะเกิดช่วงเสียเวลา เลยรู้สึกว่าสร้างกลุ่มแล้วดึงคนเหล่านี้มารวมตัวกันดีกว่า เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายของเพื่อนๆ เรากัน”

แซนเลือกที่จะสร้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ในรูปแบบ Facebook Group แทน Pages เพราะเธอเรื่องสายใยของรุ่นพี่-รุ่นน้องมหาวิทยาลัยเดียวกัน

“แซนด์คิดตั้งแต่ต้นแล้วว่าอยากให้มันเฉพาะนิดนึง เริ่มจากคนที่เราสนิทแล้วก็ไว้ใจได้ก็เลยทำเป็นกลุ่ม วันแรกที่ทำก็ invite แค่ประมาณหลักสิบ เริ่มจากคนที่ขายก่อน แล้วก็จะไปดูคนที่มี potential ที่จะซื้อ ใครชอบชอปปิ้งบ้าง ดึงให้ทั้งสองกลุ่มมาอยู่ด้วยกัน อย่างเพื่อนที่ทำสื่อ แซนก็จะมองว่าเขาอาจจะมาช่วยดูว่าใครที่จะสามารถเอาไปลงสื่อต่างๆ ที่เขาทำอยู่ ช่วยกระจายข่าวได้”

สิ่งหนึ่งที่แซนไม่ได้คาดคิดคือกรุ๊ปที่สร้างขึ้นจากความไว้เนื้อเชื่อใจกันนี้เติบโตขึ้นเร็วมาก สมาชิกที่เข้าร่วมกรุ๊ปเริ่มชวนคนใหม่เข้ามาเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน เห็นตัวเลขสมาชิกแตะหลักหมื่นในเวลาแค่ 3 วันเท่านั้น

“ไฟมันลามทุ่งมากค่ะ” แซนหัวเราะ “ในสองวันแรก ทุกคนที่ invite มาคือเพื่อนหรือเพื่อนของเพื่อนเรา แซนตอบทุกคอมเมนต์ ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จัก พยายามสร้างบทสนทนาที่มีความสุข สร้างบรรยากาศให้มันดี แต่พอหมื่นคนมันไม่ไหว ตอนนี้แอดมินเลยมี 6 คน” แซนบอกว่าทั้งหมดเพื่อนที่สนิทอยู่แล้ว และเคยช่วยเสนอความเห็นและคำแนะนำ เลยชวนมาช่วยกันดูแลเลนรู้แล้วรู้รอด แต่ไม่ได้แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ใครที่เห็นว่าใรอะไรไม่ดีก็สามารถจัดการได้เลย และทั้งหมดทำแบบสมัครใจ ไม่มีค่าตอบแทน

ข้อดีของระบบ Invitation-only Group อย่างหนึ่งก็คือระบบการคัดกรองและดูแลกันเองของสมาชิกที่รู้จักกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเบาแรงแอดมินจำนวนหยิบมือเมื่อกรุ๊ปเติมโตแบบไม่หยุดในทุกนาที

“การ Invite แปลว่าอย่างน้อยจะต้องมีหนึ่งคนที่รู้จักกันอยู่ในกลุ่มนี้ มันเหมือนการ prove รอบแรกแล้วว่าเขาต้องไว้ใจคนคนนี้แล้วประมาณหนึ่ง ว่าคนคนนี้จะไม่ทำเรื่องที่เลวร้าย หรือถ้าคนคนนี้ทำเรื่องที่เลวร้ายก็จะมีเพื่อนเขาที่อยู่ในกรุ๊ปเห็น  ดังนั้นต่อให้เกิดก็คงไม่เยอะมาก”

กลุ่มคนเหงา เราเข้าใจ

นอกจากดูแลให้การฝากร้านและบทสนทนาราบรื่น แซนและเพื่อนแอดมินยังสร้างคอนเทนต์ โพสต์ข้อความ หรือโพสต์ภาพขำๆ เองด้วยเช่นกัน และหนึ่งในคอนเทนต์แรกๆ ที่แซนทำคือโพสต์หาคู่

“เรารู้ว่าคนอ่านชอบ และเราแยกประเภทแล้ว [ให้ออกจากโพสต์ฝากร้าน] แต่ทุกวันก็จะมีแบบ... ‘ใครเหงาคอมเมนต์ครับ’ หรือ ‘ใครโสดมาเจอกันตรงนี้’ ซึ่งแซนก็จะเลือก อันไหนที่บรรยากาศมันดีแซนก็จะปล่อยทิ้งไว้ แต่จะเขียนอธิบายว่า ‘รอบหน้าให้ไปรวมตรงที่สร้าไว้ให้เนอะ จะได้ไม่ต้องมารวมที่นี่’ ส่วนคนที่มาคอมเมนต์บ่อยและตั้งโพสต์ถี่ก็จะขออนุญาตลบ”

ของต้องซื้อ แต่รอยยิ้มมีให้ฟรีๆ

ทีมแอดมินทั้ง 6 คนของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ไม่มีค่าตอบแทน แซนเองที่ที่บ้านมีร้านขายทาโก้ (นอกจากธุรกิจทัวร์และอีเวนต์ที่ไม่มีงานเลย) ก็บอกเราว่าไม่ได้จะขายได้มากมาย แต่สิ่งที่ได้คือพลังบวกที่ได้จากโพสต์และบทสนทนา

"กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แซนว่าตอนนี้คนโหยหาความรู้สึกดีๆ ทุกคนโหยเราเรื่องนี้ พอมันมีอะไรสักอย่างที่ทำให้ยิ้มได้ หรือใช้เวลาว่างที่เขามีเยอะเกินไปทำให้เกิดรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้เลยทำให้กลุ่มนี้มันขยายตัวไปเยอะ เพราะคนไม่ได้เข้ามาซื้อหรือเข้ามาขายอย่างเดียว"

“ก่อนที่จะเริ่มทำกลุ่ม สัปดาห์แรกของเดือนเมษายนคือแซนดาวน์มาก ทัวร์ก็ทำไม่ได้ อีเวนต์ก็ไม่มี รายจ่ายก็คิดเยอะ แล้วก็ดันมีเวลาว่างแบบมากที่สุดในชีวิต ทุกวันคือพูดคำว่าเบื่อกับคำว่าไม่รู้จะทำอะไรวันนึงไม่รู้กี่ร้อยรอบ แต่ตอนนี้ชีวิตเปลี่ยนเลย แซนคิดว่าทุกคนในกรุ๊ปนี้พยายามส่งแต่พลังบวก อะไรที่เป็นพลังลบแซนจะคุยหลังไมค์แล้วลบหมด แซนรู้ว่าบางครั้งอาจจะมีอะไรไม่ถูกใจ แต่ขอว่าคิดแล้วเก็บไว้อย่าพิมพ์ออกมา อย่าพยายามปล่อย hate speech หรือ bad vibe ออกมาได้ไหม เพราะแซนเองใช้พลังบวกเยอะมากในการทำให้คนมีความสุข ขออย่างเดียวอย่าส่งพลังลบมาสู้กัน แซนไม่ไหว เหนื่อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่ารัก ขอโทษ และเข้าใจ”

Sand Pawarin
แซน-ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ แอดมินผู้ก่อตั้งกลุ่ม
Sand Pawarin

เงินหมุนไป แค่เราโอนไว

เราหลายคนฟินกับการได้ซื้อสินค้า แล้วสินค้ามาส่งที่บ้านแล้วเราถูกใจ แต่แซนบอกเราว่าโมเมนต์ช็อปแหลกของหลายๆ คนสร้างผลดีในช่วงเศรษฐกิจฝืดอย่างตอนนี้กว่าที่พวกเราคิดมาก

“เพื่อนแซนคนนึงขายปลาร้าบองอยู่ระนอง แล้วมันก็โพสต์ทุกวันเลย วันนี้ทำปลาร้า พรุ่งนี้ทำโรตี ข้าวหมูทอด ผัดไทย คือเปลี่ยนมาหลายโปรดักต์แล้วยังไม่มีคนซื้อมันสักที แต่ ณ วันนี้คือมันแพ็คของส่งวันละ 10 ลังทุกวัน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดผลดีกับมันแค่คนเดียว แม่ค้าในตลาดที่ขายวัตถุดิบก็ขายได้ วินมอเตอร์ไซค์ที่มันนั่งไปก็ได้เงิน ขนส่งระนองที่ไม่มีคนส่งก็ได้เงิน อย่างมันเดินผ่านร้านสะตอและร้านกะปิที่ตลาดแล้วเอามาโพสต์ก็ขายได้ แล้วเงินที่ได้มันก็เอาไปเลี้ยงลูกน้องอีกไม่รู้กี่สิบชีวิต  มันเกิดเป็น circle ที่น่ารัก”

“ในกรุ๊ปมีคนที่น่ารักเยอะมาก เพื่อนแซนซื้อขนมไส่ไส้ 10 ห่อ พอมาส่งจริงได้ 20 เพราะแม่ค้าแถมให้ เฮ้ย เราแถมกัน 10 ห่อได้หรอ (หัวเราะ) หรือมีอีกคนหนึ่งพอโอนเงินไป แม่ค้าถามกลับว่า ‘ขายอะไรคะ จะซื้อกลับ’ มันดีมากๆ ต่อให้แซนเหนื่อย แค่นี้มันก็ดีมาก แล้วมันก็เติมใจแซนด้วย”

บทเรียนวิชา Covid-19 ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

แซนเล่าให้เราฟังว่า จริงๆ แล้วถ้ามองอีกด้านหนึ่ง Covid-19 ก็เหมือนจะกำลังให้บทเรียนเราทุกคนอยู่เหมือนกัน “อะไรที่มากจนเกินไปมันต้องหยุด ต้องพัก ทุกคนต้องกลับมาตระหนักเรียนรู้แล้ว ว่าจริงๆ แล้วเราทำอะไรกันอยู่ แซนเองก้ได้เรียนรู้หนักมาก ปกติแซนเป็นคนใช้เงินไม่คิด แต่พอมีเรื่องแบบนี้แซนกลับมาคิดว่าวันนี้ใช้เงินไปเท่านี้ทำไมอยู่ได้ แล้วก่อนหน้านี้ใช้เงินวันละสองพันได้ยังไงนะ หรือนั่งมองกระเป๋าที่เคยซื้อมาตั้งเยอะที่บ้าน แล้วรู้สึกแบบ.. ทำไปทำไม ได้อะไร เคสนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับแซนแล้วอยู่ๆ มันมาเกิดขึ้น แล้วแซนด์ก็รู้สึกว่า เออ เราก็อยู่ได้นี่นา ถ้าตอนนั้นเราใช้เงินเหมือนตอนนี้เราก็คงรวยไปแล้วมั้ง คือมันก็สอนว่าจริงๆ แล้วเรากำลังทำอะไรกัน แล้วสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันจำเป็นหรอ ซึ่งแซนคิดว่าไม่ใช่แซนคนเดียวที่รู้สึก แล้วแซนคิดว่า Covid-19 มันจะเปลี่ยนพฤติกรรมของหลายคนไปอีกพอสมควร ว่าอะไรก็ตามที่ทุนนิยมจนเกินไป มันจะถูกโทนดาวน์ลงมา”

ภายใต้ความบันเทิง สินค้านานาชนิด เงินที่สะพัดทั้งวันทั้งคืน และตัวเลขสมาชิกที่เติบโตไม่หยุด คืออีกหนึ่งความหวังเล็กๆ ของแซน ที่อยากให้กรุ๊ปนี้เป็น คือเป็นจุดนัดพบของศิษย์เก่าเลือดเหลืองแดงในธุรกิจต่างๆ กัน เพื่อการต่อยอดต่างๆ ในอนาคต “แซนรู้ว่าในทุกธุรกิจมันต้องมีสักคนที่เป็นเด็กธรรมศาตร์ เลยอยากรวมกลุ่มนี้ไว้ตรงนี้เพื่อที่ว่าเวลาจะซื้อหรือต่อรองกัน มันจะมีสายใยบางๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เขาเป็นพี่น้องเรา ต้องไว้ใจได้ มันเป็นเรื่องที่เป็นจิตวิทยานิดนึงว่าถ้าเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องธรรมศาสตร์แล้ว มันทำให้รู้สึกว่า ฉันต้องหวังดีกับเขา ฉันต้องไม่โกง ฉันต้องไม่โขกสับ แซนคิดอย่างนี้”

ถ้ายังไม่ได้อยู่ในกลุ่ม สามารถไปกดขอเข้าร่วมได้ที่นี่ ส่วนทางบ้านสามย่านก็มีตลาดนัดน้องพี่สีชมพูเช่นกัน และขยายตัวอย่างต่อเนื่องไม่แพ้กัน ในชื่อ จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา