GalileOasis

  • Things to do
  • พญาไท
  1. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  2. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  3. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  4. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  5. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  6. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  7. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  8. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  9. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  10. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  11. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  12. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  13. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
  14. GalileOasis
    Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
การโฆษณา

Time Out พูดว่า

A passion project by theater-loving people, GalileOasis is where you can find peace and serenity in an artistic setting.

อาคารเก่า ต้นไม้สีเขียว บรรยากาศโปร่งๆ และงานศิลปะที่แซมอยู่ทุกตารางนิ้วของพื้นที่คือองค์ประกอบที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจตั้งแต่เดินเข้ามาที่ GalileOasis โอเอซิสแห่งใหม่ของคนรักศิลปะแถวราชเทวีที่ข้างในมีทั้งโรงละคร แกลเลอรี่ คาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านแผ่นเสียง โรงแรมและพื้นที่ที่ที่ต้อนรับทุกคนอย่างเป็นมิตรไม่ว่าจะมานัดเจอเพื่อน นั่งทำงาน อ่านหนังสือ

ถ้าจะเรียกให้ถูกจริงๆ พี่แหม่ม-นพมาศ ภัทรกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง แนะนำว่าที่นี่คือ arits hub ซึ่งเกิดขึ้นจากแพสชั่นในการทำละครของ ‘คณะละครสองแปด’ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2528 นำโดยอาจารย์รัศมี เผ่าเหลืองทอง นักเขียนบท นักแปล ผู้กำกับละครเวที และอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชื่อที่ฟังดูคุ้นหูแต่ก็แปลกอยู่ในที มาจากคำ 2 คำ คือ Galileo ซึ่งเป็นชื่อละครเรื่องแรกของคณะละครสองแปด กำกับโดยอาจารย์รัศมี รวมกับอีกคำคือ Oasis ที่มาจากความตั้งใจที่จะสร้างให้ที่นี่เป็นเหมือนโอเอซิสกลางเมืองที่ช่วยชโลมจิตใจผู้คนด้วยศิลปะ

ตึกแถวอายุกว่า 40 ปีแห่งนี้ เป็นของครอบครัวอาจารย์รัศมี ก่อนหน้านี้ถูกปล่อยเช่าให้ชาวจีนในชุนบ้านครัวเช่าเพื่ออยู่อาศัยและทำการค้า มีทั้งร้านขายของชำ ร้านทำทอง ร้านเย็บผ้า ต่อมาก็ถูกปล่อยเช่าช่วงให้กลุ่มคนใช้แรงงาน นานๆ เข้าเมื่อไม่มีการดูแลที่เหมาะสม สภาพตึกก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พื้นที่ก็กลายเป็นแหล่งไม่พึงประสงค์ เข้าถึงยาก ไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย กระทั่งหมดสัญญาเช่าพื้นที่อาจารย์รัศมีเลยเข้ามาปรับปรุงพื้นที่และตึกเสียใหม่

“อาจารย์บอกเสมอว่าอยากทำละคร อยากมีโรงละคร เพราะอุปสรรคของละครเวทีที่ต้องซ้อมนานคือการไปเช่าสถานที่ ไปหาที่เล่นที่ซ้อมละคร มันยากเย็นจนทำให้การทำละครเป็นไปไม่ได้” พี่แหม่มเล่าถึงที่มาที่ไปของ GalileOasis

การทำโรงละครนอกจากจะเป็นจุดรวมใจให้สมาชิกคณะละครเมื่อ 37 ปีที่ก่อนได้กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้งแล้ว ยังเป็นไอเดียเพียงอย่างเดียวในตอนเริ่มต้น เพราะแต่ละคนล้วนอยู่ในแวดวงศิลปะ มีคนทำธุรกิจส่วนตัวหรืองานด้านอื่นบ้างแต่ก็ห่างไกลเกินกว่าจะมองออกว่าตึกเก่าหน้าตาธรรมดาๆ แบบนี้จะเป็นอะไรได้บ้าง

“ถ้าไปดูตามที่อื่นๆ ตึกในยุค 40 ปีที่มีงบไม่เยอะ มันหน้าตาแบบนี้ทั้งนั้น คือเป็นกรอบเหลี่ยมๆ มีบันไดขึ้นไปชั้นสอง มีห้องน้ำอยู่ใต้บันไดห้องเดียวจบ ไม่มีห้องน้ำข้างบน ชั้นสามเป็นดาดฟ้าไว้ตากผ้า เรียบง่ายมากเป็นแบบเดียวกันเกือบทั่วกรุงเทพฯ​”

ฟังพี่แหม่มบรรยายหน้าเดิมของตึกแล้วเทียบกับภาพที่เห็นตรงหน้าก็ต้องบอกว่าทำมาเยอะเหมือนกัน ซึ่งทีมสถาปนิกก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกันอีกทีนี่แหละ

“ถึงตึกเราไม่สวยเราก็จะทำให้มัน simple ที่สุดละกัน เราตกลงกับสถาปนิกว่าเราจะใช้คอนเซ็ปต์ new and old ตึกที่เก่ามันก็เก่าและเล่าเรื่องไปแล้วใส่ฟังก์ชั่นใหม่ที่ต้องมีเพื่อให้คนได้ใช้ประโยชน์”

GalileOasis เริ่มปรับปรุงช่วงต้นปี 2562 จากตึกแถว 3 ชั้น 20 คูหา ถูกปรับให้เป็น 4 บล็อก (A B C D) คั่นด้วยทางเดินและพื้นที่ส่วนกลางบรรยากาศร่มรื่น โรงละครยึดพื้นที่ทั้ง 3 ชั้นของบล็อก B โดยทุบผนังห้องชั้นล่างให้เชื่อมกันเป็นโถงกว้างๆ ไว้ซ้อมและเล่นละคร รองรับคนดูได้ 60 ที่นั่ง ช่วงไหนไม่มีละครก็เข้ามาจัดกิจกรรมอื่นๆ ในนี้ก็ได้เหมือนกัน แล้วร้านอื่นๆ ก็ทยอยเข้ามาเติมเต็ม GalileOasis เรื่อยๆ ตามที่พี่แหม่มและเพื่อนชอบและเห็นว่าไปด้วยกันได้

“เราไม่มีโจทย์สำเร็จรูปในการทำงาน เพราะเราไม่ใช่คนทำอสังหาฯ เราเป็นคนทำงานศิลปะ เราชอบศิลปะ เราอยากอยู่แบบนี้ อยากมีที่แบบนี้ให้กับตัวเรา น้องๆ หรือลูกๆ หลานๆ”

ช่วงที่เริ่มลุยงานยังไม่มีโควิด-19 กรุงเทพฯ ยังเป็นที่รักของนักท่องเที่ยว อีกอย่างตึกนี้ก็เคยเป็นห้องเช่ามาก่อน พี่แหม่มและเพื่อนเห็นว่าคงจะดีและง่ายกว่าถ้าจะปรับปรุงให้เป็นโรงแรมและอาจจะเป็นช่องทางรายได้ที่มาหล่อเลี้ยงโรงละครด้วย ชั้นบนของบล็อก A C และ D เลยกลายเป็นห้องพัก 19 ห้องกว้างๆ บรรยากาศอบอุ่น น่าอยู่ พี่แหม่มบอกว่าใช้ไม้และอุปกรณ์ในโครงการมารียูสเกือบทั้งหมด ซื้อของใหม่มาเติมน้อยมาก 

ถึงวันที่โควิด-19 เข้ามา พี่แหม่มและเพื่อนเห็นท่าไม่ดีหากจะมีแค่รายได้จากโรงแรมและโรงละคร จึงหาร้านอื่นๆ เข้ามาเป็นเพื่อนบ้าน เริ่มจากคาเฟ่ซึ่งเป็นร้านแรกของโครงการที่เปิดให้บริการและทำให้คนรู้จักที่นี่มากขึ้นอย่าง Piccolo Vicolo

“วันแรกๆ เราก็ลุ้นว่าจะมีคนมาซื้อเราไหม แต่กลายเป็นว่ามันเป็นจังหวะที่คนโหยหาพื้นที่ใจกลางเมืองแบบที่เราเป็น คือไม่ได้เดินทางยาก พอเข้ามาก็มีความเป็นส่วนตัว  มีพื้นที่ส่วนกลางให้นั่ง กลายเป็นว่าการที่อยู่ในชุมชนและต้องเดินเท้าเข้ามา 3 นาที มันกลายเป็นข้อดี” พี่แหม่มพูดถึงฟีดแบ็กดีเกินคาดตอนเปิดร้านแรกของโครงการ

จากนั้นก็ตามมาด้วยแกลเลอรี่เพราะพี่แหม่มมองว่าเป็นพื้นที่ศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่ศิลปินสามารถนำผลงานมาจัดแสดงแล้วสามารถสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการพูดคุยระหว่างกันได้ รวมถึงร้านแผ่นเสียง Recoroom จากเอกมัยก็ย้ายมาอยู่ในนี้ด้วย

สิ่งที่ดึงดูดให้คนเข้ามาที่นี่ไม่ได้มีแค่ร้านค้าร้านขาย แต่ยังมีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นที่นี่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นงานหนังสือ งานดนตรี ตลาดศิลปะและงานคราฟต์ ฯลฯ แต่ละกิจกรรมถูกใจคนรักศิลปะทั้งนั้น

“พี่ว่าหุ้นส่วนทุกคนมีมุมมองของการเป็น artist hub ต่างกัน แต่สำหรับพี่ hub แห่งนี้ไม่จำเป็นว่าคุณต้องเป็นนักเขียน ไม่ต้องเป็นศิลปิน ไม่ต้องเป็นนักแสดง แต่แค่คุณมีใจรักงานศิลปะ เราก็จะเป็นศูนย์กลางให้คุณมาพูดคุย มาเสวนาในเรื่องศิลปะ สำหรับพี่คือตรงนี้” พี่แหม่มนิยามคำว่า artist hub

GalileOasis อยู่ในตรอกวัดพระยายัง ถนนเพชรบุรี (ห่างจาก BTS ราชเทวี ประมาณ 700 เมตร) เปิดทุกวันพุธ-จันทร์ (ปิดวันอังคาร) ตั้งแต่ 9.00 - 17.00 น. (เฉพาะวันศุกร์ปิด 19.00 น.) ติดต่อได้ที่ 061 386 9898

เขียนโดย
Time Out Bangkok editors

รายละเอียด

ที่อยู่
535
Wat Phraya Yang Alley, Thanon Phetchaburi
Ratchathewi
Bangkok
10400
ข้อมูลติดต่อ
ดูเว็บไซต์
06 1386 9898
การโฆษณา
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ