Payaq Gallery Café & Bar
Payaq Gallery Café & Bar

Payaq Gallery: ปัดฝุ่นบ้านเก่าแห่งความทรงจำวัยเด็ก สร้างคอมมูนิตี้ของคนรักศิลปะย่านตึกดิน

คุยกับ 'ต้น - ศราวุฒิ ปิ่นทอง' และ 'เติ้ล - ธีระยุทธ พืชเพ็ญ' เกี่ยวกับโปรเจ็กต์เสือๆ ของพวกเขา

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

เมื่อก่อนถ้าผ่านไปแถวเสาชิงช้าถ้าไม่ไปมนต์นมสดก็จะแวะไปหาของกินแถวสามแพร่ง หรือถ้ามีเวลาก็จะไปทั้งสองที่เลย แต่ตอนนี้เห็นทีจะต้องเพิ่มการเดินเล่นในอาร์ตแกลเลอรี่เข้าไปอีกหนึ่งกิจกรรมแล้ว เพราะเพิ่งมีแกลเลอรี่เปิดใหม่ในตรอกตึกดิน ถนนดินสอ (ใกล้ๆ ศาลาว่าการ กทม.) เราแวะไปเยี่ยมมาวันก่อน บรรยากาศดีเลย มีทั้งแกลเลอรี่ บาร์และคาเฟ่เล็กๆ พอได้แฮงเอาต์ รวมถึงโซนเอาต์ดอร์สำหรับจัดอีเวนต์แนวศิลปะ เรียกว่าเป็นคอมมูนิตี้ย่อมๆ ของคนรักศิลปะในย่านนี้เลยก็ว่าได้

Payaq Gallery (พยัคฆ์ แกลเลอรี่) ชื่อที่ฟังดูทั้งไทยทั้งเท่ สะท้อนคาแร็กเตอร์ของแกลเลอรี่และผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนอย่างชัดเจน ได้แก่ คุณต้น - ศราวุฒิ ปิ่นทอง อาจารย์และสถาปนิก, คุณเติ้ล - ธีระยุทธ พืชเพ็ญ หรือ TRK ศิลปินสตรีตอาร์ต ที่มาต้อนรับเรา ส่วนอีกคนคือคุณยศพร จันทองจีน อาจารย์และอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ (เป็นเจ้าของโปรเจ็กต์จรจัดสรรด้วย) ซึ่งวันนั้นติดธุระ 

โปรเจ็กต์เสือๆ ของพวกเขามีที่มาอย่างไรและมีอะไรน่าสนใจบ้าง คุณเติ้ลและคุณต้นจะเป็นคนเล่าให้เราฟัง

Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontorn

บ้านแห่งความทรงจำวัยเด็ก

คุณต้นเริ่มเล่าว่าเดิมทีบ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของแกลเลอรี่เป็นบ้านของเพื่อนที่อยู่กันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า อายุบ้านประมาณราวๆ 150 ปี ตระกูลของเพื่อนอาศัยอยู่ที่นี่มาตลอดจนคุณย่าของเพื่อนเสียจึงย้ายออกแล้วปิดบ้านไว้จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลายี่สิบกว่าปีแล้ว

ด้วยความที่สมัยเด็กๆ สนิทกับเพื่อนมาก ไปมาหาสู่กันเป็นประจำและแฮงเอาต์ที่นี่จนรู้สึกใกล้ชิดกับบ้านหลังนี้มาก พอเรียนจบแล้วได้กลับมาเจอเพื่อนอีกครั้งจึงเกิดไอเดียอยากปัดฝุ่นบ้านหลังนี้และทำอะไรสักอย่างร่วมกัน

“รู้สึกว่าบ้านหลังนี้น่าจะทำอะไรได้ เพราะแถวนี้นักท่องเที่ยวก็เยอะและรู้สึกว่าสเปซมันสวย พอว่างจากโปรเจ็กต์ที่ทำอยู่ก็เลยชวนเติ้ลกับอาจารย์อีกคนมาดูว่ามีไอเดียอะไรกันบ้าง ตอนแรกยังคิดกันไม่ออกว่าจะทำอะไร แต่เติ้ลตั้งชื่อโปรเจ็กต์ไว้ว่าบ้านไม้ขาว เพราะที่นี่เป็นบ้านไม้แล้วก็ปลูกต้นไม้ที่ให้ดอกเป็นสีขาวหมดเลย” คุณต้นเล่า 

อย่างที่บอกไป คุณต้นเองเป็นทั้งอาจารย์สอนด้านศิลปะการออกแบบและสถาปนิก คุณเติ้ลเป็นศิลปิน ส่วนคุณยศพรก็เป็นทั้งอาจารย์และอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ด้วย ดังนั้น หลังจากเบรนสตรอมกันสักพักโปรเจ็กต์ ‘บ้านไม้ขาว’ ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยทุกคนเห็นตรงกันว่าควรทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับพื้นที่สร้างสรรค์และศิลปะ เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาถนัดที่สุด

Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontorn

จาก ‘บ้านไม้ขาว’ สู่ ‘พยัคฆ์แกลเลอรี่’

 มีสองสามเหตุผลที่ชื่อบ้านไม้ขาวถูกเปลี่ยนมาเป็นพยัคฆ์แกลเลอรี่ อย่างแรกคือที่ตั้งของบ้านซึ่งอยู่ใกล้กับวัดมหรรณพารามวรวิหาร หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัดมหรรณฯ และศาลเจ้าพ่อเสือซึ่งเป็นศาลเจ้าที่เกิดจากความเชื่อเรื่องตำนานเกี่ยวกับเสือในย่านนี้ สองคือเป็นความบังเอิญที่ผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนนั้น มีรอยสักรูปเสือกันหมดทุกคน

อีกอย่างคือบ้านหลังนี้เป็นบ้านขนมปังขิง จุดเด่นคือการตกแต่งด้วยลวดลายฉลุทั้งเพื่อความสวยงามและเปป็นช่องรับแสงรับลมในยุคที่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ เป็นภูมิปัญญาของช่างสมัยก่อนที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ลายฉลุที่บ้านหลังนี้เป็นลายเถาพอคุณต้นและคุณเติ้ลเห็นก็บังเอิญจินตนาการตรงกันว่าคล้ายลายบนหน้าผากเสือเลยเห็นพ้องต้องกันว่าจะเปลี่ยนชื่อ

“พอมาคุยกันเราก็อยากได้อะไรที่มันเกี่ยวกับเสือแล้วก็มีความเป็นตัวพวกเราด้วยเราก็เลยมากับชื่อพยัคฆ์แกลเลอรี่” คุณต้นสรุป

Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontorn

สมัยที่ยังมีคนอาศัยอยู่ ในรั้วเดียวกันนี้ประกอบไปด้วยบ้าน 3 หลัง คือบ้านคุณย่าซึ่งเป็นบ้านหลักและอยู่ด้านหน้าสุด อีก 2 หลังคือบ้านเพื่อนคุณต้นและบ้านแม่บ้าน แต่ละหลังจะเชื่อมกันด้วยพื้นที่ชั้นแรก ตอนนี้บ้านเพื่อนคุณต้นถูกรื้อออกไปทั้งหลังเพราะเจอปลวก แล้วปรับเป็นโซนสวนสำหรับจัดอีเวนต์เอาต์ดอร์ บ้านแม่บ้านถูกปรับโฉมใหม่เกือบหมดเพื่อทำเป็นส่วนออฟฟิศและที่พักศิลปินที่ทางแกลเลอรี่เชิญมาแสดงงาน ส่วนบ้านหลักถูกรีโนเวตเล็กน้อยโดยพยายามเก็บรายละเอียดเดิมๆ ไว้ให้มากที่สุดเพื่อคงกลิ่นอายและบรรยากาศเดิมๆ สมัยที่คุณต้น คุณเติ้ล และเพื่อนเคยมานั่งเล่นที่นี่เอาไว้

“สิ่งที่เราทำก็คือเราเก็บของเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด อะรที่มันใช้ไม่ได้ก็ไม่ได้จริงๆ อะไรที่ใช้ได้ก็เอามาปรับใช้ใหม่ ม้านั่งที่อยู่ในสวนก็เป็นไม้บันไดเก่า ราวลูกกรงก็เอามาทำที่นั่ง โครงหลังคาโครงสร้างบ้านก็กลายไปเป็นโต๊ะไม้ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของโซนเรสสิเดนซ์” คุณต้นเล่า

Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontorn

แกลเลอรี่ – พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับศิลปะไม่จำกัดรูปแบบ

“ผมก็จะดูแลเรื่องอาร์ตเรื่องโชว์เต็มๆ จากศิลปินก็กลายเป็นคิวเรเตอร์ในบ้านหลังนี้” คุณเติ้ลเกริ่นถึงงานในส่วนของตัวเองก่อนพาเราเดินดูแกลเลอรี่ทั้ง 2 ชั้น 

ที่ชั้นแรกจะมี ‘ห้องบ้านไม้ขาว’ เป็นห้องสำหรับจัดนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับเจ้าของบ้าน ซึ่งก็คือคุณย่าของเพื่อนคุณต้น ของสะสม ของใช้เก่าๆ ที่เคยอยู่ในบ้าน เช่น โซฟา ชั้นวางของ กระจก ชั้นหนังสือ กระเป๋า โทรศัพท์ กรอบรูป ถูกนำมาจัดแสดงในห้องนี้ทั้งหมด อีกห้องคือ ‘ห้องพยัคฆ์พาณิชย์’ เป็นช็อปเล็กๆ ที่ขายของที่ระลึกของแกลเลอรี่และผลงานที่ศิลปินนำมาฝากขาย และโถงกลางเป็นพื้นที่อเนกประสงค์

Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontornห้องบ้านไม้ขาว
Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontorn

ขึ้นบันไดไม้ไปบนชั้น 2 จะมีห้องจัดแสดงทั้งหมด 4 ห้องตามแปลนบ้านเดิม ทุกห้องจะมีชื่อที่ตั้งตามชื่อเสือ ได้แก่ ‘สมิง’ ห้องนี้เดิมเป็นห้องพระ เลยตั้งชื่อให้ดูขลัง เพราะตามความเชื่อของคนสมัยก่อนเสือสมิงคือผีหรือปีศาจในร่างเสือโคร่งขนาดใหญ่ ห้องที่กว้างที่สุดซึ่งเคยเป็นห้องนอนชื่อห้อง ‘โคร่ง’ เพราะเสือโคร่งเป็นเสือตัวใหญ่ รองลงมาคือห้อง ‘พาดกลอน’ คุณเติ้ลและคุณต้นอธิบายว่า เสือโคร่งกับเสือลายพาดกลอนคืออย่างเดียวกัน ถ้าตัวธรรมดาจะเรียกเสือพาดกลอน แต่ถ้าตัวใหญ่มากๆ คนจะเรียกว่าเสือโคร่ง และสุดท้ายคือห้อง ‘ลายเมฆ’เป็นห้องที่เล็กที่สุดและมองเห็นท้องฟ้าได้ชัดที่สุดผ่านหน้าต่าง

ป้ายชื่อห้องถูกออกแบบให้คล้ายผ้ายันต์ศาลเจ้าพ่อเสือที่มีความเชื่อว่าจะสามารถป้องกันสิ่งชั่วร้ายและช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ เป็นกิมมิกที่สร้างความเชื่อมโยงกับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontorn
Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontorn



บาร์และคาเฟ่ – ส่วนเติมเต็มคอมมูนิตี้

“สิ่งหนึ่งที่เราตั้งใจไว้ก็คืออยากให้ที่นี่เป็นคอมมูนิตี้ของคนมาดูศิลปะหรือมาแฮงเอาต์ เขาควรจะมีอะไรไว้กินดื่มบ้าง เราเลยเริ่มจากสิ่งที่เรามี ตอนนี้ผมเปิดคาเฟ่กับทำฟาร์มเล็กๆ แถวช้างสามเศียรด้วย เลยเอาบราวนี่กับกาแฟโคลด์บรูว แล้วก็อาหารมาขายที่นี่ด้วยเผื่อใครหิวอยากกินอะไรก็สามารถสั่งได้”

“เรื่องการดื่มก็คือเราชอบดื่มชอบปาร์ตี้ คนรอบตัวเราก็ชอบเหมือนกัน เลยต้องมีอะไรไว้รองรับบ้าง ส่วนไอเดียค็อกเทลเราก็หามิกโซโลจิสต์มาสอนและคิดคอนเซ็ปต์ให้เรา บังเอิญเขาก็เป็นคนบ้าเสือเหมือนกันก็เลยกลายเป็นคุยกันแล้วสนุกสนาน แล้วก็มาครีเอตเมนูให้เราเป็นซิกเนเจอร์ 3 ตัวซึ่งทั้งหมดก็จะเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ตรงนี้” คุณต้นเล่า

Payaq Gallery
Photograph: Tanisorn Vongsoontorn

ซิกเนเจอร์ค็อกเทลทั้ง 3 แก้วของที่นี่ก็จะมี ‘พยัคฆ์’ เป็นสปิริตฟอร์เวิร์ดที่มีความหนักแน่นแต่สมดุลในรสชาติ ‘พยัคฆ์ซาวร์’ หรือ ‘พยัคฆ์เปรี้ยวตีน’ ที่จะออกแนวสดชื่น มีรสเปรี้ยว และ ‘ดอกไม้ขาว’ ที่มีกลิ่นหอมชื่นใจ 

และนี่ก็คือทั้งหมดของที่มาและเรื่องราวน่าสนใจของ Payaq Gallery ใครสนใจแวะไปเดินดูงานศิลปะกันได้หรืออัปเดตอีเวนต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่นี่ได้ทางโซเชียลมีเดียของแกลเลอรี่

Payaq Gallery เปิดให้บริการทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 10.00 - 18.00 น. 

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา