Mahanakhon SkyWalk
Sereechai Puttes / Time Out Bangkok

ปี 2020 กรุงเทพฯ ดีขึ้นยังไงบ้าง แล้วชีวิตคนกรุงเข้าใกล้คำว่า ‘ลงตัว’ หรือยัง

365 วันของปี 2563 กำลังจะผ่านพ้นไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และนี่ก็เป็นช่วงเวลาของการสรุปภาพรวมทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในรอบปี

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai
การโฆษณา

Time Out Bangkok ในฐานะสื่อไลฟ์สไตล์ที่ได้นำเสนอแง่มุมต่างๆ ของกรุงเทพฯ ให้ทุกคนได้รับรู้มาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิน เรื่องเที่ยว และอัปเดตข่าวสารความเคลื่อนไหวของเมืองนี้ ขอหยิบผลงานเด่นๆ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563 มาเล่าให้ฟังว่า 1 ปีที่ผ่านมากรุงเทพฯ ดีขึ้นยังไงบ้าง โดยแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านการคมนาคม

ชีวิตคนเมือง ทันทีที่ก้าวเท้าออกจากบ้าน สิ่งแรกที่ต้องเผชิญก็คือเรื่องของการเดินทาง และก็เป็นที่รู้กันว่าสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ นั้น ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความหนาแน่นมากแค่ไหน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน

หนึ่งในทางออกของปัญหานี้ หลายคนฝากความหวังไว้ที่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีมาตรฐานและดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ถึงจะดูเป็นการพัฒนาที่ยังไม่ทันใจใครหลายๆ คน แต่ปีนี้กรุงเทพฯ ก็มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ พอให้ได้ชื่นใจอยู่บ้าง โดยในปี 2563 คนกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้า BTS เพิ่มขึ้นถึง 2 เส้นทาง ทั้งเส้นทางใหม่และส่วนต่อขยายจากเส้นทางเดิม รวม 28 สถานี ดังนี้

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
  • สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ เปิด 9 สถานี
  • สายสีเขียว ส่วนต่อขยายหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต เปิด 16 สถานี
  • สายสีทอง (เจริญนคร - กรุงธนบุรี - คลองสาน) เปิด 3 สถานี

สรุปได้ว่าการเปิดเดินรถตลอดปี 2563 ทำให้ตอนนี้ BTS มีจำนวนสถานีทั้งหมด 62 สถานี เชื่อมโยงพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และปทุมธานี

ระบบ Feeder
BMA
ระบบ Feeder
BMA

มาดูกันต่อที่การพัฒนาขนส่งมวลชนระบบล้อ ปีนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดบริการ BMA Feeder หรือรถ Shutter Bus รับ-ส่ง ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS และ Airport Rail link ใน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางดินแดง - BTS สนามเป้า และเส้นทางชุมชนเคหะร่มเกล้า - Airport Rail link ลาดกระบัง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางให้คนที่บ้านไม่ติดรถไฟฟ้าสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น

ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

และแม้จะยังไม่ถึงคิวของรถเมล์อย่างที่หลายคนตั้งตารอ แต่อย่างน้อยๆ เราก็มี ‘ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ’ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งระบบบอกสายรถเมล์และเวลาการมาถึงป้ายบนจอ LFD ขนาด 32 นิ้ว ระบบกล้องวงจรปิด ไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบการแสดงข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของ กทม. บนจอแสดงผลขนาด 55 นิ้ว พร้อมทั้งระบบชาร์จแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือและ Free Wi-Fi

ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ป้ายรถเมล์อัจฉริยะติดตั้งจุดแรกที่บริเวณแยกพระราม 9 ฝั่งเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และตอนนี้ได้ก่อสร้างศาลาเสร็จเรียบร้อยไปแล้วทั้งหมด 115 หลัง (สิ้นเดือนนี้อีก 90 หลัง) โดยมีกำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้งหมด 350 หลัง (Full 100 หลัง , Light 250 หลัง) ภายในเดือนเมษายนปีหน้า

เรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
เรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

สำหรับคนเดินทางโดยเรือ ปีนี้ กทม. ได้พัฒนาเส้นทางเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งได้นำเรือไฟฟ้ามาให้บริการใน 11 ท่าเรือ รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร นอกจากจะเป็นมิตรต่อแม่น้ำลำคลองมากขึ้นแล้ว เรือไฟฟ้าทุกลำยังมาพร้อมระบบจีพีเอส ติดตามตำแหน่งเรือ มีการออกแบบที่นั่งและทางเดินในเรือให้สะดวกสบายขึ้น และมีพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์ด้วย

ด้านสิ่งแวดล้อม

ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวคราวการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองในต่างประเทศ ยอมรับว่าเราอิจฉาไม่แพ้การได้เห็นความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีหรือสิ่งปลูกสร้างล้ำสมัยของเมืองนั้นๆ เลย เพราะรู้สึกว่าพื้นที่สีเขียวคือส่วนที่ทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นและควรถูกพัฒนาควบคู่กันไปกับความเจริญ

ตัดภาพมาที่กรุงเทพฯ ในปี 2563 ข้อมูลจาก กทม. เปิดเผยว่า เรามีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 632 ไร่ 3 งาน 31.85 ตารางวา คิดเป็น 7.08 ตารางเมตรต่อคน (ปีที่แล้วอยู่ที่ 6.91 ตารางเมตรต่อคน) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรที่องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนหรือมากกว่า ก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ซะทีเดียว คราวนี้มาดูกันดีกว่าว่าพื้นที่สีเขียว 600 กว่าไร่ที่เพิ่มขึ้นมานี้ มาจากที่ไหนบ้าง

เจ้าพระยาสกายปาร์ค
UddCเจ้าพระยาสกายปาร์ค

การปรับปรุงภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่น่าสนใจที่สุดในรอบปี เรายกให้ ‘สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา’ ความสำเร็จแรกในโครงการกรุงเทพฯ 250 ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของผังเมืองกรุงเทพฯ ในอีก 20 ข้างหน้า ซึ่งจะตรงกับวาระเฉลิมฉลอง 250 ปี ในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าพระยาสกายปาร์ค
BMAเจ้าพระยาสกายปาร์ค
เจ้าพระยาสกายปาร์ค
BMAเจ้าพระยาสกายปาร์ค

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เป็นทั้งจุดชมวิวกลางแม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่พักผ่อนและออกกำลังกาย และที่ผ่านมาก็มีการจัดกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้ง

(อ่านบทสัมภาษณ์ ‘เจ้าพระยาสกายปาร์ค’ จากสะพานด้วนสู่สวนลอยฟ้าแห่งแรกของคนกรุงเทพฯ)

นอกจากนั้นก็มีสวนสาธารณะเปิดใหม่ 4 สวน ได้แก่ สวนสาธารณะบริเวณห้าแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร สวนปิยะภิรมย์ สวนสันติพร และพื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช ชอยปรีดีพนมยงค์ 2 รวมถึงปลูกต้นโกงกางในพื้นที่ป่าชายเลนบางขุนเทียน จำนวน 220 ไร่ และการพัฒนาถนนสายอัตลักษณ์ 9 สายหลัก โดยปลูกต้นไม้ตลอดเส้นทาง รวมยะยะทาง 79.66 กิโลเมตร

ด้านการพัฒนาพื้นที่

รอบปีที่ผ่านมา เมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างกรุงเทพฯ ได้พัฒนาเมืองเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนหลายโครงการ โดยมีโครงการที่น่าสนใจและเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางคือ ‘คลองโอ่งอ่าง’ และ ‘ถนนข้าวสาร’

คลองโอ่งอ่าง
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

เป็นเวลาเกือบ 40 ปี นับตั้งแต่ กทม. ได้จัดสัมปทานให้พ่อค้าแม่ค้าที่ย้ายมาจากคลองถม เช่าพื้นที่ว่างริมคลองโอ่งอ่างบริเวณสะพานดำรงสถิต หรือ ‘สะพานเหล็ก’ ที่เราคุ้นเคย เป็นที่ค้าขายและกลายเป็นแหล่งรวมร้านของเล่นและเกมที่ขึ้นชื่อในเวลาต่อมา แต่ขณะเดียวกันพื้นที่คลองก็ถูกรุกรานอย่างหนัก  กทม. จึงมีนโยบายจัดระเบียบพื้นที่ โดยรื้อย้ายสะพานเหล็กและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา

คลองโอ่งอ่าง
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
คลองโอ่งอ่าง
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

วันนี้คลองโอ่งอ่าง ช่วงสะพานดำรงสถิต – สะพานโอสถานนท์ ระยะทางรวม 750 เมตร มีสภาพสวยงามและเป็นระเบียบมากขึ้น ทางเดินริมคลองและตัวตลิ่งที่เคยเป็นคอนกรีตสภาพเสื่อมโทรม ถูกแทนที่ด้วยอิฐมอญ เสาไฟส่องสว่างและราวกันตกถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้พื้นที่ รวมถึงฝาท่อที่ถูกแต่งเติมลวดลายจนเดินผ่านเฉยๆ ไม่ได้ ต้องก้มมองก่อนและต้นไม้ที่จะให้ความร่มรื่นต่อไปในอนาคต

ไม่เพียงเท่านั้น ผนังของตึกรามบ้านช่องทั้งสองฝั่งคลอง กลายเป็นพื้นที่ของสตรีตอาร์ตซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของคลองโอ่งอ่างโฉมใหม่ และทุกวันศุกร์-อาทิตย์ก็จะมีถนนคนเดิน ซึ่งมีทั้งร้านสตรีตฟู้ด ร้านอาหารเชิงวัฒนธรรมและเชื้อชาติที่มีความหลากหลายทั้งแขก จีน ไทย ร้านค้าท้องถิ่น สินค้าตามเทศกาลและพื้นที่ศิลปะ ที่เหมาะกับการไปเดินหาของกินชิลๆ และถ่ายรูปกับสตรีตอาร์ตสวยๆ ในช่วงสุดสัปดาห์

ถนนข้าวสาร
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
ถนนข้าวสาร
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

ขณะที่ ‘ถนนข้าวสาร’ แหล่งรวมสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ และเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ปัจจุบัน กทม. ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ถนนข้าวสารให้สวยงามและเป็นระเบียบมากขึ้น ทั้งการจัดระเบียบแผงค้า ปรับปรุงทางเท้าและถนน โดยใช้งบประมาณ 48 ล้านบาท และเริ่มทำงานมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมและปิดจ๊อบไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ชีวิตคนกรุงเข้าใกล้คำว่า ‘ลงตัว’ หรือยัง?

พูดตามตรงว่าเราคงไม่อาจตอบคำถามนี้แทนทุกคนได้ เพราะเชื่อว่าทั้งหมดที่กล่าวมาก็คงมีทั้งคนที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคและคนที่เข้าไม่ถึงหรือได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในบางพื้นที่ ดังนั้น คำถามนี้อาจจะไม่ได้จบอยู่ที่การหาคำตอบใดคำตอบหนึ่ง แต่อาจเป็นการตั้งคำถามต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้กรุงเทพฯ เกิดการพัฒนาใหม่ๆ อยู่เสมอ

อ้างอิง

http://www.prbangkok.com/th/hotnews/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQzNzYwMg==

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา