Japan National Stadium
Japan Sport CouncilJapan National Stadium

เที่ยวสนามกีฬาโอลิมปิกโตเกียว ชมทั้งภายนอก-ภายใน แบบเวอร์ชวล 360 องศา

ชวนไปเที่ยวสนามกีฬาโอลิมปิกสดใหม่ และร่วมถอดรหัสการออกแบบที่สถาปนิก Kengo Kuma ออกแบบให้เข้ากับเมืองโตเกียว

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
การโฆษณา

แค่เปิดดูการแข่งขันโอลิมปิกก็ทำให้ไม่ว่าใครก็คิดถึงอากาศดีๆ บ้านเมืองสะอาดๆ และตึกสวยๆ ของโตเกียวกันไปตามๆ กัน และตั้งเป้าว่าหมดโควิดจะต้องกลับไปเยือนกันอีกสักครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามกีฬาและสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาเพื่อการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ และเราส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้เห็นสถานที่จริง

หัวใจของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้เห็นจะหนีไม่พ้น สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่นแห่งใหม่ (Japan National Satdium) ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ณ จุดเดียวกับสนามกีฬาแห่งชาติเดิมที่ทุบทิ้งไปในปี 2015 สนามกีฬาแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นระดับตำนาน เคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) ที่ชนะการประกวดด้วยโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาให้ 'กลมกลืน' และ 'อ่อนน้อม' ต่อสถานที่สำคัญข้างๆ นั่นคือศาลเจ้าเมจิที่ตั้งอยู่ในสวนป่าขนาดยักษ์ใจกลางเมือง สนามกีฬาแห่งนี้จึงมีขนาดที่ย่อมกว่าสนามโอลิมปิกทั่วไปที่เราเห็นในประเทศอื่นโดยสูงเพียง 47.4 เมตร มีช่องลมระบายอากาศในหน้าร้อนโดยรอบ มีการปลูกต้นไม้ภายนอก และใช้ไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยไม้ทั้งหมดถูกส่งมาจากทั้ง 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น ตามคอนเซ็ปต์ที่เขาให้ชื่อว่า "ต้นไม้ที่มีชีวิต (Living Tree)" 

สนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่นี้ใช้งบประมาณสร้างไป 1.57 แสนล้านเยน หรือราว 47,500 ล้านบาท และถึงจะผู้ชมได้ 68,000 คน แต่ก็ไม่มีใครได้เข้าไปชมพิธีเปิด พิธีปิด และการแข่งขันใดๆ ในสนามแห่งนี้เลย เนื่องจากมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19

Tokyo Olympic Statdium
Japan Sport CouncilJapan National Stadium

แต่กว่าจะได้สนามกีฬาแห่งนี้มา ญี่ปุ่นก็ผ่านดราม่ากันหลายยก เพราะในความเป็นจริงแบบแรกที่ชนะการประกวดนั้นเป็นของสถาปนิกผู้ล่วงลับ ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) แต่แบบสนามกีฬาที่เหมือนยานอวกาศขนาดยักษ์ตามสไตล์ของเธอนั้นถูกสถาปนิกชาวญี่ปุ่นหลายคนออกมาวิจารณ์อย่างหนักว่า 'ไม่เข้า' กับทัศนียภาพโดยรอบ ถึงกับมีการเปิดแคมเปญเรียกร้องให้เปลี่ยนแบบที่มีคนลงชื่อนับแสน จนท้ายที่สุด ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องประกาศล้มแบบและเปิดการประกวดใหม่ และแบบของคุมะก็เฉือนชนะแบบของสถาปนิกดังอีกคนของญี่ปุ่น คือ โตโย อิโตะ (Toyo Ito) มาได้

อ่านมาถึงตรงนี้ ยังไปเห็นของจริงกันไม่ได้ เราเลยชวนมาเที่ยวทิพย์ไปชมสนามกีฬาแห่งนี้ผ่านเวอร์ชวลทัวร์ที่ทำขึ้นโดยซันเคชิมบุน หนึ่งในหนังสือพิมพ์ใหญ่ของญี่ปุ่นกัน คลิกไปดูได้ที่นี่  

แชร์เนื้อหา

บทความล่าสุด

    การโฆษณา